News

ชป.เดินหน้าระบายน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ / บริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ

11/10/2020

กรมชลประทาน นำเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ ติดตั้งในพื้นที่ต่างๆ เร่งระบายน้ำท่วมขัง พร้อมเดินหน้าบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก ลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯอย่างเต็มศักยภาพ

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่กำลังประสบปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นพาดผ่านเข้าสู่ประเทศไทย ได้สั่งการให้กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปบรรเทาความเดือดร้อนและดูแลประชาชนให้ถึงที่สุด นั้น ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา กาญจนบุรี ราชบุรี จันทบุรี ระยอง และเพชรบุรี
โดยที่จังหวัดนครราชสีมา น้ำป่าที่ไหลหลากจากเขาใหญ่ลงสู่ต้นน้ำลำตะคอง และไหลล้นเข้าท่วมพื้นที่บ้านคลองเดื่อ บ้านวังประดู่ บ้านคลองเพล บ้านโต่งโต้น บ้านท่ามะปรางค์ ต.หมูสี ปัจจุบันเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนปริมาณน้ำที่ไหลหลากนี้จะไหลลงอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ที่ปัจจุบันยังสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกประมาณ 76 ล้าน ลบ.ม. โดยไม่กระทบกับพื้นที่ด้านท้ายน้ำ รวมไปถึงในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมา
ในส่วนของการช่วยเหลือระบายน้ำที่ท่วมขังในเขตอำเภอเมือง เนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน นั้น สำนักเครื่องจักรกล ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลำน้ำบริบูรณ์ บริเวณประตูระบายน้ำ(ปตร.)จอหอ 6 เครื่อง และที่ลำน้ำลำตะคอง บริเวณ ปตร.ข่อยงามอีก 3 เครื่อง พร้อมกำจัดผักตบชวาบริเวณใต้สะพานรถไฟ ท้าย ปตร.จอหอ เพื่อให้น้ำระบายได้สะดวก นอกจากนี้ ยังได้นำรถแบคโฮ 5 คัน เข้าไปขุดลอกคลองสาบใหญ่ฝั่งขวา-ปตร.โพธิ์เตี้ย ต.หมื่นไวย อ.เมืองนครราชสีมา รวมระยะทาง 11 กม. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลงสู่ลำน้ำบริบูรณ์ให้เร็วขึ้น

ส่วนที่เขื่อนลำพระเพลิง มีปริมาณน้ำในเขื่อน 148 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น (95 % ของความจุอ่างฯ) แนวโน้มน้ำไหลลงอ่างฯลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้ระบายน้ำเพื่อการบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ด้วยการระบายลงคลองส่งน้ำสายใหญ่วันละ 1.55 ล้าน ลบ.ม. และระบายลงลำน้ำธรรมชาติ วันละ 3.28 ล้าน ลบ.ม. รวมระบายน้ำทั้งสิ้นวันละ 4.83 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งการระบายน้ำนี้ส่งผลกระทบบ้างเล็กน้อยในพื้นที่ ลุ่มต่ำ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร ในเขตอ.ปักธงชัย ทั้งนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำพระเพลิง ร่วมกับ อบต.สุขเกษม ช่วยกันกำจัดวัชพืชและสิ่งกัดขวางทางน้ำที่บริเวณสะพานบ้านบุพรหมราช เพื่อเร่งการระบายน้ำ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับชาวบ้านท่าน้ำทิพย์วางกระสอบทรายบริเวณคันคลองที่ LMC ลำพระเพลิง กม.28+100 พร้อมกับประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ลุ่มต่ำเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ต่อไปแล้ว
ที่จังหวัดกาญจนบุรี มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งในเขต 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอด่านมะขามเตี้ย ปริมาณน้ำในลำน้ำลำภาชีเพิ่มสูงขึ้น เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบริเวณพื้นที่หมู่ 3 บ้านหินแด้น ต.หนองไผ่ และหมู่ 6 บ้านท่าไม้ยาว และอำเภอบ่อพลอย เกิดน้ำป่าไหลหลาก ทำให้ลำน้ำลำตะเพินเอ่อล้นตลิ่ง ด้านเหนือสถานีวัดน้ำ K.49 เข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรม(ไร่อ้อย) โครงการชลประทานกาญจนบุรี ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือ โดยได้แจ้งให้ผู้นำท้องที่ทราบถึงสถานการณ์น้ำแล้ว เพื่อเปิดอาคารบังคับน้ำบ้านชุกกระเพาะ ในการระบายน้ำออกจากพื้นที่

ที่จังหวัดราชบุรี เกิดน้ำหลากล้นตลิ่งแม่น้ำภาชี เข้าท่วมพื้นที่ราษฎร รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรรม ในเขต อ.สวนผึ้ง (ต.ตะนาวศรี และ ต.สวนผึ้ง) อ.จอมบึง (ต.ด่านทับตะโก และ ต.แก้มอ้น) ลำห้วยแม่ประจันต์ อ.ปากท่อ (ต.ยางหัก) แนวโน้มระดับน้ำในลำภาชีเริ่มลดลงแล้ว และการคาดการณ์ โครงการชลประทานราชบุรี ได้ประสานกับสำนักงานชลประทานที่ 13 เพื่อสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือเข้าไปช่วยเหลือแล้ว
ที่จังหวัดจันทบุรี มีน้ำป่าไหลหลากเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.สอยดาว (บริเวณ หมู่ 1 หมู่ 5 หมู่ 9 และหมู่ 12 ต.ทรายขาว และหมู่ 11 ต.ทับช้าง) และอ.โป่งน้ำร้อน บริเวณด่านบ้านแหลม ต.เทพนิมิต ปัจจุบัน อ.สอยดาว สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ในส่วน อ.โป่งน้ำร้อน ระดับน้ำยังทรงตัว หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ภายใน 1-2 วันนี้ โครงการชลประทานจันทบุรี ได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน เข้าไปให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ด้วยการแจกจ่ายอาหารและน้ำดื่มให้กับผู้ประสบภัย
ที่จังหวัดระยอง มีน้ำท่วมขังถนนสายแหลมมะขาม ซ.2 ถึงร้านอาหารต้นทางรัก ม.2 ต.ทับมา อ.เมืองระยอง ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 0.10-0.50 เมตร โครงการชลประทานระยองร่วมกับเทศบาลตำบลทับมา ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากไม่มีฝนตกในพื้นที่ คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ภายในวันนี้ (11 ต.ค. 63) ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ได้ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น โดยช่วยขนย้ายสิ่งของให้พ้นน้ำ และแจกกระสอบทราย ด้านนิคมอุตสาหกรรมมาบตะพุต ได้มีการเดินเครื่องสูบน้ำที่สถานีสูบน้ำหนองโพรง(ต้นทางรัก) เร่งระบายน้ำลงสู่คลองน้ำหูแล้ว

สำหรับในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 315 ล้าน ลบ.ม.(44 % ของความจุอ่างฯ) ปิดการระบายน้ำ ส่วนอ่างเก็บน้ำแม่ประจันต์มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 38 ล้าน ลบ.ม. (90 % ของความจุอ่างฯ) ระบายน้ำ 20 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เนื่องจากมีปริมาณน้ำมาก จำเป็นต้องระบายน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยผากมีปริมาณน้ำ 15 ล้าน ลบ.ม. (56 % ของความจุอ่างฯ) ปิดการระบาย ทั้งนี้ จากการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำแม่ประจันต์ ประกอบกับปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนตกด้านท้ายอ่างฯ จะไหลไปรวมกับแม่น้ำเพชรบุรีที่มาจากเขื่อนแก่งกระจาน และห้วยผาก ก่อนเข้าสู่เขื่อนเพชร ซึ่งจะเป็นตัวควบคุมการระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีที่จะไหลลงไปสู่พื้นที่ตัวเมืองจังหวัดเพชรบุรีต่อไป
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี ได้บริหารจัดการน้ำ โดยการผันน้ำบริเวณด้านเหนือเขื่อนเพชร เข้าสู่คลองส่งน้ำสายใหญ่ 3 ระบายน้ำไปยังคลองระบายน้ำ D.9 พร้อมกับเพิ่มการระบายน้ำเข้าคลองส่งน้ำอีก 3 สาย ก่อนระบายออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ส่วนที่เขื่อนเพชรปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 216 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเพชรบุรีบางแห่ง โดยเฉพาะในตัวเมืองเพชรบุรี ที่มีงานก่อสร้างสะพานทางรถไฟ จะส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงกว่าปกติ และอาจจะล้นตลิ่งเข้าท่วมในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีบางส่วนได้ กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในเมืองเพชรบุรีและอำเภอบ้านแหลมแล้ว 15 เครื่อง พร้อมกับสำรองเครื่องสูบน้ำที่สามารถติดตั้งเพิ่มเติมได้ทันที พร้อมทั้งได้แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งแม่น้ำเพชรบุรี ให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน

 

No Comments

    Leave a Reply