PR NEWS

ปล่อยกลไกตลาดทำงาน…รางวัลที่คนเลี้ยงหมูควรได้รับ

01/10/2020

ผู้เขียน บรรจบ สุขชาวไทย นักวิชาการด้านปศุสัตว์ : banchob_suk@yahoo.com

ข่าวการแจกเนื้อหมูให้พนักงาน ของบริษัทแห่งหนึ่งในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน ทางตอนใต้ของจีน สำหรับเทศกาลไหว้พระจันทร์ จากแนวคิดของนายจ้าง ที่ว่าพนักงานในบริษัทน่าจะอยากได้เนื้อหมูไปทำอาหารกินมากกว่า เพราะปัญหาราคาเนื้อหมูในจีนที่ค่อนข้างแพง

เรื่องนี้สะท้อนภาวะราคาหมูในจีนได้อย่างชัดเจนว่า คนจีนต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนมากเพื่อแลกกับการได้บริโภคเนื้อหมูที่อยู่ในภาวะขาดแคลน โดยเฉพาะในช่วงก่อนหน้านี้ที่ราคาหมูจีนพุ่งขึ้นไปหลายเท่าตัว จากปัญหาการขาดแคลนปริมาณสุกรในประเทศ ที่ได้รับความเสียหายจากโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ในสุกร ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2561 ทำให้หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียต่างเผชิญหน้ากับราคาหมูที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
พบว่า ราคาหมูหน้าฟาร์มปัจจุบันของประเทศจีนสูงถึง 155 บาทต่อกิโลกรัม เวียดนามราคา 105 บาทต่อกิโลกรัม กัมพูชาราคา 96 บาทต่อกิโลกรัม และเมียนมาราคา 82 บาทต่อกิโลกรัม

ขณะที่ประเทศไทยราคาอยู่ที่ 79-80 บาทต่อกิโลกรัม หรือมีราคาถูกว่าจีนถึง 1 เท่าตัว ราคาหมูไทยที่ถูกที่สุดในภูมิภาคนี้ เกิดจากความสามารถของเกษตรกรไทยที่ยังร่วมกันปกป้องอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรไทยจากโรค ASF มาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นประเทศเดียวที่ยังคงสถานะปลอดโรคนี้ มานานกว่า 2 ปี
เรื่องนี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เป็นเพราะความร่วมมือของทุกคนในวงการหมู ที่ไม่ยอมก้มหัวให้โชคชะตา ไม่ยอมให้โรคร้ายแรงในหมูนี้เข้ามาทำลายอุตสาหกรรมหมูและห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด ที่มีมูลค่าสูงกว่า 2 แสนล้านบาทได้

แต่รางวัลของความมุ่งมั่นตั้งใจของเกษตรกร กลับเป็นการ “ถูกตรึงราคา” หมูหน้าฟาร์มไว้ไม่ให้เกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งๆที่วันนี้ทุกคนต่างรู้ดีว่าปริมาณหมูลดลง เพราะวงการหมูกำลังถูกท้าทายจากโรคเพิร์ส (PRRS) ที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเหนือแทบทุกจังหวัดที่หมูเสียหายจากโรคนี้เป็นอย่างมาก จากการต้องควบคุมโรคตามมาตรการของภาครัฐ ด้วยการทำลายหมูทั้งในฟาร์มที่เกิดโรคและฟาร์มในรัศมีโดยรอบ 1-5 กิโลเมตร เพื่อทำให้โรคอยู่ในวงจำกัด

คนเลี้ยงหมูไทยจึงน่าเห็นใจที่สุดในเวลานี้ เพราะในขณะที่จีนและหลายประเทศในภูมิภาคนี้ต่างปล่อยให้ราคาหมูเป็นไปตามกลไกตลาด ตามอุปสงค์และอุปทานที่แท้จริง เพื่อพยายามประคับประคองให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ยังคงมีแรงสานต่ออาชีพและช่วยกันผลิตหมูเพื่อป้อนการบริโภคไม่ให้ประชาชนขาดแคลนเนื้อหมู
แต่เกษตรกรไทยกลับถูกดึงรั้งให้ต้องยอมรับภาวะราคาที่ไม่อาจขยับขยายได้ ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ทั้งๆที่ต้นทุนที่เกษตรกรต้องแบกรับ ทั้งเรื่องของการป้องกัน ASF ที่ยังคงย้ำไม่ให้การ์ดตก และยังต้องเพิ่มการป้องกัน PRRS ขึ้นมาอีก จนต้องมีต้นทุนการป้องกันทั้งสองโรคนี้สูงถึง 200 บาทต่อตัวเข้าไปแล้ว แต่ก็ยังต้องขายหมูในราคาเดิม เพื่อเป็นการดูแลปากท้องผู้บริโภค ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้บริโภคมีทางเลือกมากมายทั้งการทานไก่ ปลา ไข่ และอาหารโปรตีนอื่นทดแทน

ที่สำคัญคงลืมไปแล้วว่าคนเลี้ยงหมู ไม่ใช่เพียงผู้ผลิตหมู แต่ยังอยู่ในฐานะผู้บริโภคเช่นเดียวกัน วันนี้พวกเขาต้องหาทางแก้ปัญหาภาระขาดทุนสะสมที่แบกรับมาตลอดไม่ต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานใด ต้องหาทางช่วยเหลือกันเองเพื่อประคองอาชีพเดียวเอาไว้ แล้ววันนี้ยังต้องมีภาระต้นทุนที่พุ่งขึ้นต่อเนื่องเพิ่มขึ้นอีก หากความอดทนขาดผึงจนเกษตรกรตัดสินใจเลิกเลี้ยงหมูไป สิ่งที่จะตามมาคือปริมาณหมูที่จะลดลงซ้ำเติมภาวะที่เป็นอยู่จากโรคเพิร์สถึงวันนั้นก็คงจำต้องยอมรับ อย่างที่ชาวจีน ชาวเวียดนาม และอีกหลายประเทศต่างต้องยอมรับกับราคาจากภาวะขาดแคลนหมูในเมื่อ “คนทำดีต้องได้รางวัล” เกษตรกรคนเลี้ยงหมู ก็ควรได้รับรางวัลจากการดูแลคนไทยทั้งประเทศตลอดเวลาที่ผ่านมา ด้วยการปล่อย “กลไกตลาดเสรี” เพื่อต่อลมหายใจ ต่ออาชีพของพวกเขา ก่อนที่เกษตรกรจะหมดใจหมดแรงจะสู้ต่อในที่สุด.

No Comments

    Leave a Reply