ด้วย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ได้สั่งการผ่าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ติดตามแนวทางการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างทั่วถึง ตลอดจนวางแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยการผันน้ำส่วนเกินไปเก็บกักตามแหล่งน้ำต่างๆ ให้เพียงพอสำหรับใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า นั้น
นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้ติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ที่คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากร่องมรสุม ทำให้เกิดฝนตกอย่างต่อเนื่อง จึงสั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่เฝ้าระวังติดตามวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมพิจารณาการบริหารจัดการน้ำให้มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำพระเพลิง ปัจจุบัน(18 ต.ค. 63) มีปริมาณน้ำ 173.50 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 112 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ประมาณ 15.92 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลผ่านทางระบายน้ำฉุกเฉิน(Spillway) ประมาณ 14.48 ล้าน ลบ.ม./วัน มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งคลองระบายน้ำเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง ส่วนพื้นที่เขตเศรษฐกิจเมืองปักธงชัยไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ทั้งนี้ แนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯเริ่มทรงตัว แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากบริเวณเขาใหญ่ยังคงมีฝนตกเป็นระยะๆ
กรมชลประทานได้เร่งดำเนินการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำตามจุดต่างๆ เพื่อเร่งการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำมูลให้ได้มากที่สุด พร้อมกันนี้ ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณอ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูลให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยดึงน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่จ.นครราชสีมา ให้ระบายลงสู่แม่น้ำมูลได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้เจ้าหน้าชลประทาน ลงไปสำรวจพื้นที่ที่มีน้ำล้นตลิ่งด้านท้ายเขื่อนลำพระเพลิง เพื่อวางแผนติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังต่อไป จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
สำหรับความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนลำพระเพลิง นั้น เจ้าหน้าที่จากส่วนความปลอดภัยเขื่อนกรมชลประทาน ได้ลงพื้นที่มาตรวจสอบสภาพเขื่อนแล้ว ขอยืนยันว่าเขื่อนลำพระเพลิง ยังมีความมั่นคงแข็งแรงดี สามารถใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ
No Comments