กรมชลประทานชี้แจงกรณี มีตะกอนน้ำเสียบริเวณฝายหนองหวาย ในช่วงตั้งแต่ประตูระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์มาจนถึงพื้นที่กักเก็บน้ำหน้าโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย นั้น
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ชี้แจงกรณีนี้ว่า เหตุการณ์น้ำในลำน้ำพองมีสีดำและกลิ่นเหม็น สาเหตุเนื่องมาจากการที่พื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากมีปริมาณฝนตกลงมาในปริมาณที่น้อย ส่งผลให้เกิดการสะสมของตะกอน สิ่งปฎิกูล รวมทั้งเศษวัชพืชต่างๆซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่สามารถเน่าเปื่อยได้ ต่อมาในช่วงเดือนกันยายน ได้เกิดฝนตกในพื้นที่ลำน้ำพองในปริมาณมาก ส่งผลให้น้ำไหลลงสู่ลำน้ำพอง มวลน้ำเหล่านี้ได้พัดพามวลสารต่างๆ ที่อยู่ในลำน้ำพอง ประกอบกับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น ทำให้ตะกอนที่จมอยู่เกิดการฟุ้งกระจายเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำมีสีดำ และเกิดก๊าซไข่เน่าลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น
ในเบื้องต้น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ได้ประสานขอเครื่องผลักดันน้ำ 9 เครื่อง จากส่วนบริหารเครื่องจักรกลที่ 3 กรมชลประทาน เพื่อช่วยเติมปริมาณออกซิเจนในน้ำ นอกจากนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ยังได้ทำการเปิดประตูระบายทราย 4 ช่อง เพื่อระบายตะกอนออกบริเวณหน้าฝาย ทำให้ขณะนี้สภาพแวดล้อมระบบนิเวศน์ของลำน้ำพองที่เคยเน่าเหม็นได้กลับคืนสภาวะเกือบจะปกติแล้ว อาจจะมีบางจุดที่มีค่าออกซิเจนยังไม่คงที่ ซึ่งยังไม่มีผลการพิสูจน์แหล่งกำเนิดของมลพิษที่ชัดเจน ฝายหนองหวายจึงได้เร่งเพิ่มออกซิเจนในน้ำบริเวณหน้าฝาย ซึ่งจะทำให้เกิดปฏิกิริยาให้สารอินทรีย์ย่อยสลายอย่างสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้กลิ่นเหม็นหายไปเกือบ 100 % และยังมีการเติมความสมบูรณ์ให้น้ำกลับมา โดยให้เขื่อนอุบลรัตน์ ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากวันละ 3 แสน ลบ.ม.เป็นวันละ. 5 แสน ลบ.ม. เป็นระยะเวลา 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมา
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ยังมีความจำเป็นที่จะรักษาระบบนิเวศน์ทางน้ำควบคู่กับการเก็บกักน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและต้องให้คุณภาพของน้ำอยู่ในระดับที่ดี ซึ่งจากการวัดค่าออกซิเจนที่บริเวณหน้าฝายหนองหวาย พบว่าคุณภาพน้ำอยู่ในระดับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและตรวจวัดคุณภาพน้ำ รวมถึงสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในลำน้ำพองต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายสู่สภาวะปกติ
No Comments