News

มกอช.​ ก้าวสู่ปีที่ 18 เดินหน้าขับเคลื่อนการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร

09/10/2020

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จัดงานวันสถาปนาสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เนื่องในโอกาสครบรอบ 18 ปี ในวันที่ 9 ตุลาคม 2563 โดยมี

นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี พร้อมทั้งมอบนโยบายและมอบโล่ประกาศเกียรติคุณและใบประกาศเกียรติคุณให้แก่ผู้บริหาร และผู้เชี่ยวชาญ มกอช. ที่เกษียณอายุราชการ รางวัลข้าราชการดีเด่น รางวัลพนักงานราชการดีเด่น รางวัลคนดี ศรี มกอช. และรางวัลเกี่ยวกับระบบมาตรฐานและอาหารปลอดภัย โดยมีคณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ มกอช. และผู้ที่มาร่วมแสดงความยินดี เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุม 511 อาคาร 5 สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

นายพิศาล เปิดเผยว่า มกอช. เป็นหน่วยงานกลางด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร โดยกำหนด ตรวจสอบ รับรอง ควบคุม และส่งเสริมมาตรฐานสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อปรับปรุงและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งเพื่อให้มีคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะ การขับเคลื่อนนโยบายตลาดนำการผลิต และการขับเคลื่อนงานตามนโยบายและภารกิจหลักของ มกอช. โดยมีผล การดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ การยกระดับพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน ปัจจุบัน มกอช. ได้มีการประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร รวมจำนวน 356 เรื่อง แบ่งเป็น มาตรฐานทั่วไป 350 เรื่อง และมาตรฐานบังคับ ที่บังคับใช้แล้ว 6 เรื่อง โดยล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรมีมติเห็นชอบให้ร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง เป็นมาตรฐานบังคับ โดยระยะเวลาบังคับใช้จะมีผลนับแต่วันประกาศใช้ใน ราชกิจจานุเบกษาต่อไป การส่งเสริมด้านการมาตรฐาน ปัจจุบันมีการพัฒนาศักยภาพผู้ตรวจประเมิน จำนวน 2,381 ราย การพัฒนาผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับ Smart famer และ YSF จำนวน 91 ราย และสร้างผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์สำหรับอาจารย์ผู้สอน จำนวน 147 ราย

การเสริมสร้าง ความตระหนักในการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน (เครื่องหมาย Q) มีการบังคับใช้มาตรฐานและแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน (เครื่องหมาย Q) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมจำนวน 299 ราย โดยมีมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ดำเนินการส่งเสริมการบังคับใช้เป็นมาตรฐานบังคับ จำนวน 2 เรื่อง และมาตรฐานทั่วไป จำนวน 6 เรื่อง การขับเคลื่อนโครงการโรงอาหารปลอดภัยในโรงเรียน (Q Canteen) มกอช. ได้ดำเนินการคัดเลือกโรงเรียนเอกชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่สนใจเข้าร่วมโครงการนำร่อง ในปีงบประมาณ 2563 เพื่อส่งเสริมให้ดำเนินกิจกรรมโรงอาหารปลอดภัย Q Canteen โดยได้คัดเลือกโรงเรียนต้นแบบ จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนประสาทวิทยานนทบุรี โรงเรียนสมาคมสตรีไทย และโรงเรียนผ่องสุวรรณวิทยา และยังมีโรงเรียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายนำร่องอีกหลายแห่ง โครงการร้านอาหารวัตถุดิบปลอดภัยเลือกใช้สินค้า Q (Q Restaurant) ปัจจุบันมีร้าน Q Restaurant อยู่ทั่วประเทศ กว่า 3,000 แห่ง และได้ดำเนินการยกระดับมาตรฐานร้านอาหารที่มีศักยภาพสูงให้เป็นร้านอาหาร Q ระดับพรีเมี่ยม โดยในปี 2563 มีร้านอาหารนำร่องสมัคร เข้าร่วมและผ่านการรับรอง Q restaurant Premium จำนวน 13 แห่ง

โครงการส่งเสริมการบริโภคและใช้วัตถุดิบสินค้า Q (Q Market) มีการตรวจประเมินและให้การรับรองสถานที่จำหน่ายสินค้า Q ประเภทตลาดสด จำนวน 125 ตลาด 895 แผง ประเภทร้านค้าหน้าฟาร์ม จำนวน 101 ร้าน และมีการส่งเสริมสถานที่จำหน่ายสินค้า จำนวน 191 ราย โครงการสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อส่งเสริมให้มีสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ ที่เชื่อถือได้ให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อ โดยในปี 2563 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 11 แห่ง รวม 340 สาขา โครงการเกษตรเพื่อชีวิต มกอช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดโครงการเกษตรเพื่อชีวิต “เกษตรกรรุ่นใหม่ใส่ใจมาตรฐาน” ประจำปี 2563 เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ในขอบข่าย พืชอาหาร ข้าว ประมง ปศุสัตว์ และเทคโนโลยีการผลิตที่เกี่ยวข้อง ให้แก่นักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีและวิทยาลัยประมง ซึ่งเข้าร่วม จำนวน 24 แห่ง โดยมีโครงการที่ผ่านการตัดสินให้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 28 โครงการ

โครงการ Q อาสา มีการฝึกอบรมสร้างการรับรู้ด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร ให้แก่ประธานศูนย์เรียนรู้ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และเครือข่าย และผู้นำกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ทั้ง 9 เขต จำนวน 940 คน และมีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ Q อาสา ด้านมาตรฐาน GAP พืชอาหาร ในพื้นที่โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี จำนวน 78 คน การเปิดตลาดจิ้งหรีดไปยังประเทศเม็กซิโก มกอช. ได้ร่วมประชุมกับกรมปศุสัตว์เพื่อจัดทำรูปแบบใบรับรองสุขอนามัยประกอบการส่งออกผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของประเทศเม็กซิโก และเสนอให้ SENASICA พิจารณาแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ปัจจุบัน SENASICA อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบใบรับรองสุขอนามัย ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่เม็กซิโกจะอนุญาตให้มีการนำเข้าต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรระหว่างผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยการจำหน่ายสินค้ามาตรฐานผ่านตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ DGTFarm.com ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 2,717 ราย มีสินค้า ที่วางขายทั้งหมด 720 รายการ โดยสินค้าที่วางขายในแต่ละตลาด ได้แก่ ตลาดเกษตรอินทรีย์ จำนวน 170 รายการ ตลาดเกษตรปลอดภัย จำนวน 250 รายการ และตลาดสินค้า QR Trace จำนวน 180 รายการ รวมไปถึงการส่งเสริมการใช้ QR Trace On Cloud ระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยการนำ QR Codeมาใช้เป็นเครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงข้อมูลตามสอบสู่ผู้บริโภค ปัจจุบันมีผู้ประกอบการสมัครใช้งานทั้งหมด 1,907 กิจการ

“การยกระดับมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับของผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน จะสร้างความเท่าเทียมและ ช่วยลดอุปสรรคทางเทคนิคในการค้าระหว่างกัน ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อการค้า การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ของไทย ตลอดจนการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการและผู้บริโภค” นายพิศาลกล่าว

No Comments

    Leave a Reply