News

รองอธิบดีกรมชลฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบคันดินกั้นน้ำขาด

14/10/2020

นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วย นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจสอบคันดินกั้นน้ำขาดจากการถูกน้ำกัดเซาะ พร้อมตรวจการก่อสร้างประตูระบายน้ำ จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนหลิ่นฟาและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรง ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่องติดต่อกัน และ มีน้ำไหลผ่านเข้าสู่คลองผันน้ำโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นการช่วยเร่งการระบายน้ำในแม่น้ำตรัง และบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้น โดยมี นายรุทร์ อินนุพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ในสังกัดฯ ให้ดารต้อนรับ ณ หมู่ที่ 1ตำบลหนองตรุด อำเภอเมืองตรัง
นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการผันน้ำที่จะช่วยผันน้ำส่วนเกินจากแม่น้ำตรัง ดำเนินการมาแล้วกว่าร้อยละ 90 ทั้งการขุดหรือทำคันกั้นน้ำ ในขณะเดียวกัน จะมีอาคารประตูระบายน้ำ 2 แห่ง สะพาน 44 แห่ง ที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ และโครงการดังกล่าว ก่อประโยชน์ให้กับพื้นที่ ป้องกันน้ำท่วมในเขตเมือง แต่ยังมีจุดอ่อน ซึ่งจะต้องควบคุมเพื่อมิให้คันดินที่มีอยู่ เสียหายมากกว่าเดิม ด้วยการนำกล่องแกเบียนหรือกล่องหินมาวางเรียง เป็นประสบการณ์จากลำน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งกำหนดแล้วเสร็จภายใน 2 วัน พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 ที่ดูแลรับผิดชอบงานก่อสร้างโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง ได้จัดเตรียมความพร้อมในการรองรับภาวะวิกฤติ หากมีปริมาณน้ำในแม่น้ำตรังเพิ่มสูงขึ้นและอาจจะเกิดผลกระทบกับการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่บริเวณรอบโครงการ ฯ

“โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดตรัง โดยมีลักษณะโครงการเป็นการก่อสร้างคลองผันน้ำพร้อมอาคารประกอบ เริ่มตั้งแต่บ้านหนองตรุด หมู่ที่ 1 ผ่านหมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 ต.หนองตรุด หมู่ที่ 1 ต.นาโต๊ะหมิง และหมู่ที่ 4 ต.บางรัก สิ้นสุดที่บ้านคลองช้าง หมู่ที่ 4 ต.บางรัก อ.เมือง จ.ตรัง ความยาวคลองประมาณ 7.55 กิโลเมตร ความกว้างท้องคลอง 102 เมตร ความลึกของคลองประมาณ 4.5 เมตร สามารถระบายน้ำได้ 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมทั้งก่อสร้างถนนบนคันคลอง ผิวจราจรกว้าง 9 เมตร ทั้ง 2 ฝั่งคลอง มีประตูระบายน้ำ จำนวน 2 แห่ง เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลเข้าคลองผันน้ำ และมีอาคารรับน้ำเข้าคลองคลอดความยาวของคลองผันน้ำ สามารถแบ่งน้ำที่จะไหลเข้าเขตเมืองได้สูงสุด 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากที่ไหลลงมาในแม่น้ำตรังทั้งหมดประมาณ 1,467 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยคาดว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปีงบประมาณ 2564“ นายประพิศ กล่าว.
ด้านนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า จังหวัดตรังได้เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชน แม้ขณะนี้ ฝนตกน้อยลงแต่ยังประมาทไม่ได้ ซึ่งได้กำชับให้ทุกท้องที่ได้ติดตาม รายงานสถานการณ์น้ำ ปริมาณน้ำ และครัวเรือนที่ประสบอุทกภัยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จังหวัดตรังร่วมกับสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดตรัง ได้นำสิ่งของไปช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ตำบลบางรัก จำนวน 50 ครัวเรือน และทางชลประทานจะเร่งผลักดันน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ และสั่งการให้ทุกท้องถิ่นจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับแจ้งกรณีที่ประชาชนต้องการอพยพย้ายสิ่งของต่าง ๆ ตอนนี้ได้สั่งการเตรียมความพร้อมทุกหน่วยทุกพื้นที่และทุกอำเภอที่ได้รับผลกระทบ 7 อำเภอ ในเบื้องต้นทาง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรังได้สนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวน 1,000 ชุด อีกด้วย นายขจรศักดิ์ กล่าว.

No Comments

    Leave a Reply