News

องคมนตรี ลงพื้นที่ติดตามโครงการประตูระบายน้ำป่าซ่านฯ จ.พิษณุโลก

12/02/2021

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคเหนือ ครั้งที่ 7/2564 โดยมี

นายเฉลิมเกียรติ     คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสัณฐิต พีรานนท์ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมด้วยข้าราชการ และประชาชนในพื้นที่ ร่วมให้การตอนรับ ณ ศาลาประชาคม ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก ในการนี้ องคมนตรีได้มอบถุงพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้แก่สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ ภูขัด ภูเมี่ยง ภูสอยดาว อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 250 ถุง สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านป่าคา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 300 ถุง โครงการอนุรักษ์สภาพป่าแม่ตื่นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก จำนวน 250 ถุง พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปจากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่

จากนั้นช่วงบ่าย องคมนตรี และคณะ ลงพื้นที่ติดตามโครงการประตูระบายน้ำป่าซ่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน และร่วมปลูกต้นไทรย้อยใบแหลมบริเวณโครงการ ในการนี้ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้บรรยายสรุปผลการดำเนินโครงการประตูระบายน้ำป่าซ่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีพื้นที่ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 3
บ้านป่าซ่าน ตำบลบ้านพร้าว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันมีการดำเนินงานก่อสร้างอยู่ 2 ระยะ โดย ระยะแรก เป็นโครงการประตูระบายน้ำบ้านป่าซ่านพร้อมอาคารประกอบ (คลองชักน้ำลงแก้มลิงบึงหลวง) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ได้มีการก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำ ระบบท่อลอดถนน และก่อสร้างคลองส่งน้ำ U-SHAPE ขนาดกว้าง 3 เมตร ลึก 4 เมตร ความยาวรวม 519 เมตร มีการขุดคลองส่งน้ำขนาดก้นคลองกว้าง 2 เมตร ลึก 4 เมตร ความยาวรวม 2,192 เมตร ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี 2563 และในระยะที่สอง ปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยมีลักษณะโครงการฯ เป็นการก่อสร้างประตูระบายน้ำ จำนวน 3 ช่องบาน ขนาด 2.40 x 2.40 เมตร พร้อมอาคารระบายน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 4 เมตร มีความยาว 28 เมตร

ทั้งนี้ เมื่อโครงการประตูระบายน้ำซ่านอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แล้วเสร็จ จะสามารถชักน้ำเข้าไปเก็บกักในบึงหลวงได้ประมาณ 1.20 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำให้แก่ราษฎรได้มีน้ำใช้
เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอตลอดปี โดยมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 1,500 ไร่ จำนวน 230 ครัวเรือน และสามารถบรรเทาอุทกภัยในฤดูฝน สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่ราษฎรในพื้นที่อย่างยั่งยืน

No Comments

    Leave a Reply