บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ขยายเวลาการดำเนินโครงการ “Faster Payment” เครดิตเทอมภายใน 30 วัน ออกไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 หวังช่วยคู่ค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 6 พันรายเดินหน้าธุรกิจได้ต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก ในภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมจัดอบรมพัฒนาขีดความสามารถด้านการจัดการแรงงาน และสิ่งแวดล้อม หนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน
นางสาวธิดารัตน์ เดชายนต์บัญชา รองกรรมการผู้จัดการ ด้านการจัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 3 ได้สร้างความกังวลต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและรายย่อย ซีพีเอฟ จึงได้ต่อเวลา การดำเนินโครงการ ให้เครดิตเทอม หรือการชำระค่าสินค้า ภายใน 30 วัน แก่ คู่ค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีช่วยเติมทุนสำรองใช้หมุนเวียนในกิจการได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดชะงัก ผ่อนปรนภาระทางการเงิน รวมถึงรักษาการจ้างงานไว้ได้ เป็นกองหนุนให้คู่ค้ารายย่อยสามารถผ่านพ้นวิกฤติได้
“ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังมีความเสี่ยง และไม่แน่นอนสูงมาก การขยายเวลาโครงการ Faster Payment เป็นอีกแนวทางที่จะช่วย “พันธมิตรทางธุรกิจ” ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถรักษากิจการให้อยู่รอด และยังช่วยรักษาพนักงานและครอบครัวยังมีความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ” นางสาวธิดารัตน์กล่าว
ปัจจุบัน ซีพีเอฟ มีคู่ค้าที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย และรายบุคคล ประมาณ 6 พันราย ต้นทางสำคัญของความต่อเนื่องในการส่งมอบอาหารคุณภาพปลอดภัยให้ผู้บริโภคได้อย่างเพียงพอ โครงการที่ให้เครดิตเทอม 30 วัน จะมีส่วนเสริมสภาพคล่องของบริษัทขนาดเล็กให้ดีขึ้น สามารถลดภาระต้นทุน ไม่ต้องกู้เงินจากแหล่งที่มีดอกเบี้ยสูง และช่วยให้บริษัทมีเงินทุนในการแสวงหาโอกาสในการขยายฐานลูกค้า และเพิ่มยอดขายอีกด้วย v
นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังให้ความสำคัญกับการยกระดับขีดความสามารถคู่ค้าธุรกิจเอสเอ็มอีให้สามารถเติบโตไปด้วยกัน ยกระดับมาตรฐานการผลิตคุณภาพสูง ปลอดภัย ดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยในปีนี้ ซีพีเอฟร่วมมือกับภาครัฐและหน่วยงานภายในองค์กรที่เกี่ยวข้อง จัดการอบรมถ่ายทอดความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อคู่ค้าเอสเอ็มอีได้พัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานสู่มาตรฐานสากล ทั้งเรื่อง การบริหารจัดการด้านแรงงาน การเพิ่มความปลอดภัยและสุขอนามัยในกระบวนการผลิตและสถานที่ทำงาน การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
นางสาวธิดารัตน์ ยังกล่าวอีกว่า การพัฒนาคู่ค้าเอสเอ็มอี จะเป็นประโยชน์ต่อการผลิตสินค้าสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค และตลาดหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ให้ความสำคัญกับห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารที่รับผิดชอบต่อแรงงาน สังคม และสิ่งแวดล้อม สร้างโอกาสใหม่ๆ ที่ช่วยสนับสนุนให้คู่ค้าเติบโตเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ขึ้น หรือยกระดับเป็นผู้ผลิตระดับประเทศได้ต่อไป.
No Comments