พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เป็นประธานเปิดสถานีสูบน้ำคลองสะพาน จังหวัดระยอง สามารถเพิ่มน้ำให้อ่างฯประแสร์ได้กว่า 50 ล้าน ลบ.ม./ปี รองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้น อย่างเพียงพอ รวมทั้งได้ติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในเขต EEC พร้อมมอบนโยบายแก้ไขปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน
วันนี้ (14 มิ.ย. 64) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมี นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมพร้อมรายงานสถานการณ์น้ำ และแนวทางการบริหารจัดการน้ำรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ EEC ในอนาคต ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ จังหวัดระยอง
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เนื่องจากการขยายตัวของสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รัฐบาลจึงสั่งการให้ทุกภาคส่วนร่วมบูรณาการการทำงาน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ ให้ประชาชนมีน้ำเพียงพอใช้ในทุกกิจกรรม ปัจจุบันในพื้นที่ EEC (ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา) มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกัน 662 ล้าน ลบ.ม. หรือ 44% ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 522 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งทำการจัดสรรน้ำในทุกกิจกรรมไปแล้ว 80 ล้าน ลบ.ม. มีความต้องการใช้น้ำรวมกัน 1,054 ล้าน ลบ.บ. จากการคาดการณ์พบว่าในอนาคต (ปี 2574) ในพื้นที่ดังกล่าวมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นรวม 358 ล้าน ลบ.ม. โดยพื้นที่จังหวัดชลบุรี จะมีความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นมากที่สุด
ที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำในเขต EEC อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม แต่ปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่มีไม่เพียงพอสำหรับรองรับความต้องการใช้น้ำในอนาคต จึงได้พิจารณาแนวทางดำเนินการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ และป้องกันการขาดแคลนน้ำทั้งในเขต EEC จำนวน 4 โครงการ ได้แก่ 1.) โครงการระบบสูบผันน้ำคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เส้นที่ 2 ปัจจุบันมีความพร้อมดำเนินการ หากแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำประแสร์ได้กว่า 50 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี 2.) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ปัจจุบันอยู่ระหว่างนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และโครงการผันน้ำคลองวังโตนด – อ่างเก็บน้ำประแสร์ เส้นที่ 2 หากแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ได้กว่า 140 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี 3.) โครงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์-หนองค้อ-บางพระ ปัจจุบันมีความพร้อมที่จะดำเนินการ หากแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำบางพระได้กว่า 80 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี และ 4.) โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หากแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลได้กว่า 1,795 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี
สำหรับลุ่มน้ำบางปะกง กรมชลประทานทำการจัดสรรน้ำ จากอ่างเก็บน้ำ 6 แห่ง เพื่อรักษาระบบนิเวศกว่า 300 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี ในการควบคุมค่าความเค็มไม่ให้เกินเกณฑ์ที่กำหนด (1 กรัมต่อลิตร) ในขณะนี้กำลังก่อสร้างระบบส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา กว่า 100,000 ไร่ จึงทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันมีไม่เพียงพอสำหรับช่วยผลักดันน้ำเค็มจึงได้ทำการศึกษาแนวทางการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนโดยมีแผนศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการอ่างเก็บน้ำจำนวน 6 แห่ง
No Comments