News

ชป. พร้อมรับมือฝนตกหนัก หลังกรมอุตุฯ คาดจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์นี้

19/07/2021

กรมชลประทาน เดินหน้าบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ดร.วัชระ เสือดี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน ( 19 ก.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 33,928 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 9,998 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกรวม 42,140 ล้าน ลบ.ม.  เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,552 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 856 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่มีการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้วทั้งประเทศรวม 11.20 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 67 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 5.32 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 64 ของแผนฯ

ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณฝนตกกระจายตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้สถานการณ์ค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ปัจจุบัน(19 ก.ค. 64) ที่สถานีสูบน้ำประปาสำแล วัดค่าความเค็มได้ .016 กรัม/ลิตร ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา แต่อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้งในช่วงปลายเดือนนี้ ด้วยการสำรองน้ำไว้บริเวณเหนือเขื่อนพระรามหก สำหรับใช้ผลักดันน้ำเค็มในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมลำเลียงน้ำล่วงหน้าจากเขื่อนเจ้าพระยามายังสถานีสูบน้ำสิงหนาท เพื่อควบคุมคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้ง

 

อนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ตั้งแต่วันที่ 18 – 24 ก.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาและลาวเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักในบางแห่ง จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้ติดตามสถานการณ์น้ำท่าและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างฯให้ได้มากที่สุด รวมทั้งปรับการระบายน้ำอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณฝน เพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ  ตลอดจนตรวจสอบอาคารชลประทานทุกแห่ง ให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ และกำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำอยู่สม่ำเสมอ ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการประชาสัมพันธ์ชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม-น้ำล้นตลิ่ง หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อสอบถามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

 

No Comments

    Leave a Reply