News

ชป.ย้ำปริมาณน้ำยังอยู่ในเกณฑ์น้อย แม้จะเพียงพอใช้อุปโภคบริโภค แต่ต้องช่วยกันประหยัด

23/03/2020

กรมชลประทาน ย้ำปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์น้อย คงเหลือน้ำใช้เฉพาะการอุปโภคอย่างเพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝนนี้ พร้อมวอนทุกฝ่ายร่วมกันประหยัดน้ำให้มากที่สุด

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 12/2563 ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสำนักงานชลประทานเครือข่ายศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC)ทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ ในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 พร้อมเตรียมแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 23 – 26 มี.ค. 63 ว่า ทางตอนบนของประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลาง อาจเกิดฝนฟ้าคะนองได้ โดยเฉพาะภาคอีสานบริเวณจังหวัดสกลนคร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ส่วนจันทรบุรี และตราด จะมีฝนบ้างบางพื้นที่ ซึ่งเกิดจากพายุฤดูร้อน จึงอาจจะมีปริมาณฝนไม่มากนัก แต่พอจะทำให้เกิดความชุ่มชื้นแก่ภาคการเกษตรได้บ้าง

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน(23 มี.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 37,156 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 13,809 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสัก-ชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 9,451 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 38 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 2,755 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่มีการระบายน้ำรวมกันวันละประมาณ 15 ล้าน ลบ.ม. สำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพาะยาเท่านั้น

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่าปีที่แล้วราว 7,600 ล้าน ลบ.ม. โดยมีอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำใช้การได้น้อยกว่าร้อยละ 30 จำนวน 20 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก กรมชลประทาน ได้ให้ทุกโครงการชลประทานติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินการบริหารจัดการน้ำ และปรับการระบายน้ำให้เหมาะสม เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอใช้ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนนี้อย่างไม่ขาดแคลน ส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยาการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่ง เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และผลิตน้ำประปาเท่านั้น ส่วนการช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งใน 48 จังหวัด ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไปแล้วรวม 602 เครื่อง สนับสนุนรถบรรทุกน้ำอีก 11 คัน ปริมาณน้ำรวมประมาณ 1.88 ล้านลิตร ช่วยบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จึงขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุดด้วย

No Comments

    Leave a Reply