News

มกอช. ยกระดับโรงรวบรวม/โรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด สู่มาตรฐาน GMP รองรับตลาดส่งออก

10/09/2020

โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มและบริหารจัดการร่วมกัน ทำให้เกิดการรวมกันผลิตและรวมกันจำหน่ายโดยมีตลาดรองรับที่แน่นอน รวมทั้งผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ “โรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด” เป็นอีกกระบวนการผลิตก่อนจำหน่ายสู่ผู้บริโภค ที่สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการผลิตหลังการเก็บเกี่ยว และเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค แต่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าจะได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพ และปลอดภัย จึงต้องนำหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Practice : GMP) ซึ่งเป็นเกณฑ์หรือข้อกำหนดพื้นฐานที่จำเป็นในการผลิตมาใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุม
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้เห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด (มกษ. 9035-2553) และมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงรวบรวมผักและผลไม้สด (มกษ. 9047-2560) เพื่อใช้เป็นกลไกสำคัญในการควบคุมและพัฒนาคุณภาพผักและผลไม้ ให้เกิดการขับเคลื่อนมาตรฐานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ GAP และ GMP ส่งเสริมคุณภาพและได้มาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิต และช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตตลอดจนแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน ที่สำคัญรองรับการส่งออกในอนาคต

ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า มกอช. ได้จัดทำ “โครงการยกระดับและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐาน GMP” เพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบการผลิตและควบคุมคุณภาพของโรงคัดบรรจุและโรงรวบรวมผักและผลไม้สดขนาดเล็ก ให้มีการจัดการผลิตและระบบควบคุมคุณภาพที่เป็นมาตรฐานเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัย และเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มเกษตรกรที่จะขอการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีในการผลิต (GMP)
ในปีงบประมาณ 2563 มกอช. ได้ดำเนินการพัฒนาโรงคัดบรรจุและโรงรวบรวมผักและผลไม้สดขนาดเล็กในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ 1.โรงรวบรวมสับปะรด วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านโป่งกระทิง ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี 2.โรงคัดบรรจุมะม่วงส่งออกวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออกอำเภอบางแพ ตำบลดอนคา อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี และ3.โรงคัดบรรจุผัก วิสาหกิจชุมชนหนองบัวสามัคคี 63 ตำบลหนองญาติ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
โดยเริ่มจากเจ้าหน้าที่สำรวจรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและวางแผนการดำเนินงาน การวิเคราะห์และประเมินศักยภาพกลุ่ม (Gap Analysis) ประเมินสถานการณ์ ปัญหา อุปสรรค จุดแข็ง จุดอ่อน และข้อจำกัดของโรงคัดบรรจุและโรงรวบรวมผักและผลไม้สดแต่ละแห่ง ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ตรวจประเมินอาคารสถานที่ผลิต วิเคราะห์และสรุปข้อมูลที่ได้จากการประเมินศักยภาพกลุ่ม และกำหนดแนวทางการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพการผลิตให้เป็นไปตามหลักการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด (มกษ. 9035-2553) และ/หรือมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงรวบรวมผักและผลไม้สด (มกษ. 9047-2560)
ปัจจุบัน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านโป่งกระทิง ผ่านการรับรองการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงรวบรวมผักและผลไม้สด ตามข้อกำหนด มาตรฐาน มกษ. 9047-2560 จากกรมวิชาการเกษตร (ขอบข่ายสับปะรด กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า ขนุน) ใบรับรอง GMP กรมวิชาการเกษตร ออกให้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ผ่านการตรวจประเมินจากหน่วยรับรองสาธารณสุข และหน่วยงานสาธารณสุขจังหวัดพิจารณาอนุมัติให้ใบสำคัญเลขสถานที่ผลิตอาหารที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 และอยู่ระหว่างยื่นขอขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (DOA : กมพ.21) เป็นผู้ส่งออกสินค้าพืช โดยเฉพาะส่งออกผลไม้ไปจีนในอนาคต

วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออกอำเภอบางแพ ได้ผ่านการรับรอง การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงรวบรวมผักและผลไม้สด ตามข้อกำหนด มาตรฐาน มกษ. 9047-2560 จากกรมวิชาการเกษตร (ขอบข่ายมะม่วง) ออกให้เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ผ่านการตรวจประเมินจากหน่วยรับรองสาธารณสุข และหน่วยงานสาธารณสุขจังหวัดพิจารณาอนุมัติให้ใบสำคัญเลขสถานที่ผลิตอาหารที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผ่านการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (DOA : กมพ.21) ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ.2563 โดยเฉพาะส่งออกผลไม้ (ขอบข่าย มะม่วง) ไปจีนได้ ขณะที่วิสาหกิจชุมชนหนองบัวสามัคคี 63 ผ่านการตรวจประเมินจากหน่วยรับรองสาธารณสุข และหน่วยงานสาธารณสุขจังหวัดพิจารณาอนุมัติให้ใบสำคัญเลขสถานที่ผลิตอาหารที่ไม่เข้าข่ายโรงงาน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา

“โรงคัดบรรจุและโรงรวบรวมผักและผลไม้สด ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน GMP จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน สามารถเพิ่มโอกาสสินค้าเกษตร มีการเชื่อมโยงการผลิตการตลาดสินค้ามาตรฐาน รวมทั้งเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัย โดยเฉพาะระบบตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ www.DGTFarm.com”เลขาธิการ มกอช.

 

No Comments

    Leave a Reply