News

ชป. หวัง 2 เดือนสุดท้ายก่อนสิ้นฤดูฝนเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด สำรองไว้ใช้แล้งหน้า

10/08/2020

หลังพายุ “ซินลากู” ผ่านไป ปริมาณฝนตกเริ่มลดน้อยลง ทำให้ระยะนี้ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำเริ่มลดลงตามไปด้วย หากแนวโน้มฝนตกดีในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน ตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา จะส่งผลดีเร่งเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดก่อนสิ้นฤดูฝนปีนี้


ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน


ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าช่วงวันที่ 9 – 10 ส.ค. 63 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้


สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(10 ส.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 33,189 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 9,505 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 42,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,132 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 33 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,436 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (10 ส.ค. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 7,382 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,500
ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 77 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้ คงเหลือปริมาณน้ำที่ต้องจัดสรรอีกประมาณ 750 ล้าน ลบ.ม.


กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำต้นทุน ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ประกอบกับสภาพฝนที่ตกในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรได้ทำการเกษตร โดยเฉพาะข้าวนาปีได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ ยังคงต้องใช้น้ำฝนเป็นหลัก และใช้น้ำชลประทานเสริม ซี่งจะต้องไม่กระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชน ส่วนสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ ปัจจุบันเข้าสู่ภาวะปกติเกือบทั้งหมดแล้ว มีเพียงพื้นที่ ลุ่มต่ำริมตลิ่งบางแห่งในจังหวัดพะเยา น่าน และ ร้อยเอ็ด ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังระดับน้ำอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้สำนักงานชลประทานทั่วประเทศ บริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกำชับให้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะทุกแห่ง (SWOC 1 – 17) ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ให้พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ทางสายด่วนกรมชลประทาน โทร. 1460 หรือติดตามสถานการณ์น้ำได้ทาง http://water.rid.go.th/ และ www.rid.go.th

No Comments

    Leave a Reply