กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวผ่านสื่อมวลชนว่า รมว.เกษตรฯ ลั่นน้ำน้อย งดปลูกข้าว เผยน้ำต้นทุนน้อยกว่าปีก่อน 8 พันล้านลูกบาศก์เมตร นั้น
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ไม่มีนโยบายที่จะให้เกษตรกรงดทำนาแต่อย่างใด เป็นเพียงความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ ที่แม้ขณะนี้ใกล้จะสิ้นสุดฤดูฝนแล้วก็ตาม แต่ปริมาณน้ำในอ่างฯ ก็ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าอย่างเพียงพอ ส่วนเกษตรกรที่เพาะปลูกแล้ว ขอให้ใช้น้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก คาดว่าหากพายุ “โนอึล” เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย จะทำให้มีฝนตกมากขึ้น ส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในอ่างฯเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย”
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน(17 ก.ย. 63) มีปริมาณรวมกันประมาณ 34,560 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 11,124 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,185 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 3,489 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (17 ก.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 10,436 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 87 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,357 ล้าน ลบ.ม. หรือเกินแผนไปแล้วร้อยละ 3 ภาพรวมสถานการณ์น้ำทั้งประเทศ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ปีนี้(2563) น้อยกว่าปี 2562 ที่ผ่านมาถึง 11,882 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำรวมกันปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 1,671 ล้าน ลบ.ม. ในส่วนของพื้นที่ทำนาปีในเขตชลประทานทั่วประเทศ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 13.34 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของแผนฯ (แผนวางไว้ 16.79 ล้านไร่) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการทำนาปีไปแล้ว 5.66 ล้านไร่ หรือร้อยละ 69 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 8.10 ล้านไร่)
กรมชลประทาน ได้กำหนดแผนบริหารจัดการน้ำภายใต้ภาวะน้ำน้อย เน้นเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำต่างๆให้ได้มากที่สุด ส่งน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก พร้อมบริหารจัดการน้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับทราบถึงสถานการณ์น้ำต้นทุนที่มีอยู่น้อย โดยขอให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก หากพื้นที่ใดมีการเพาะปลูกไปแล้วให้ใช้น้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนที่ยังไม่มีการเพาะปลูกให้พิจารณาปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน ทั้งนี้ ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมใจกันรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าอย่างไม่ขาดแคลน
No Comments