กรมชลประทาน เดินหน้าให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายของรัฐบาล โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคอีสานตอนบน ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 15 – 16 กันยายน 2564 ประเทศไทยยังคงมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้ปริมาณน้ำท่าตามแหล่งน้ำธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำได้ ดังนี้
สถานการณ์น้ำท่าในแม่น้ำสายหลัก หลายแห่งมีระดับน้ำสูงขึ้น อาทิ ที่จังหวัดปราจีนบุรี ระดับน้ำในแม่น้ำปราจีนบุรี ที่สถานีวัดน้ำท่า Kgt.3 อ.กบินทร์บุรี สูงกว่าตลิ่ง 0.71 เมตร มีแนวโน้มลดลง ที่จังหวัดนครราชสีมา แม่น้ำมูล ที่สถานนีวัดน้ำท่า M.173 อ.โชคชัย มีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.36 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สถานีวัดน้ำท่า C.67 แม่น้ำเจ้าพระยา อ.เสนา ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.44 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กรมชลประทาน ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งเข้าดำเนินการตามแผนป้องกันเหตุ และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาแล้ว
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จากการปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณแม่น้ำน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่นอกคันกั้นน้ำบริเวณหมู่ที่ 1 ต.บ้านแพน อ.เสนา ได้รับผลกระทบน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 63 เซนติเมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าระดับน้ำในพื้นที่ดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 1.00 เมตร ภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางบาล ได้เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังยังจุดเสี่ยง พร้อมทั้งประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว
ที่ จ.สุพรรณบุรี มีน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรบริเวณหมู่ 4 ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จำนวน 752 ไร่ ระดับน้ำในแปลงนาท่วมสูง 0.60 เมตร หมู่ 10 ต.บ้านสระ อ.สามชุก จำนวน 371 ไร่ ระดับน้ำในแปลงนาท่วมสูง 0.60 เมตร และหมู่ 6 ต.สระแก้ว อ.เมือง จำนวน 976 ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก ได้เข้าติดตั้งเครื่องสูบน้ำ รวม 6 เครื่อง ตามจุดเสี่ยงต่างๆ พร้อมระบายน้ำจากคลองระบาย 5 ขวา สามชุก 1 ลงคลองระบายใหญ่สามชุก 1 และสูบน้ำจากคูสาธารณะลงคลองระบายใหญ่สามชุก 2 ตามลำดับ อีกทั้งนำรถแบ็คโฮกำจัดวัชพืชในคลองระบาย 5 ขวา สามชุก 1 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำอีกด้วย
No Comments