News

กรมชลประทานสร้างวัตกรรมใหม่ ติดอาวุธระบบคาดการณ์ปริมาณน้ำ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง สร้างความมั่นคงด้านน้ำ

15/09/2021

ทีมนักวิจัยของสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สร้างวัตกรรมใหม่โครงการพัฒนาระบบคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง (Development of Reservoir Operation Simulation System In Medium Scale Reservoirs.) 412 แห่งทั้งประเทศ ปริมาณน้ำกักเก็บรวมกว่า 5,140.5 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) วางเป้าหมายบริหารจัดการน้ำและจัดสรรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้เพียงพอ ทั่วถึง และเป็นธรรม รวมทั้งการลดผลกระทบจากอุทกภัย ทีมนักวิจัยนำโดยนายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทานฝ่ายบำรุงรักษา และนายสันติ เต็มเอี่ยม ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำในฐานะเป็นที่ปรึกษาโครงการ พร้อมด้วย นายพีระพงศ์ รัตนบุรี นายมาณพ พรมดี และนายวชิระ สุรินทร์ วิศวกรชลประทานชำนาญการ สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเข้ามาช่วยเติมเต็มการบริหารจัดการน้ำและการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า “ในปัจจุบันการทำงานให้มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง รวดเร็วและรอบด้าน การทำงานจึงมีความหลากหลายและครอบคลุมไม่ว่าจะเป็น การตรวจวัด การบันทึกข้อมูลทางสถิติ และการคาดการณ์ปริมาณน้ำ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาด้านน้ำนั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด” แต่เนื่องจากปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง (Climate Change) ก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยขึ้นบ่อยครั้ง จากสาเหตุนี้ทำให้พบว่าระบบการคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่ใช้ในปัจจุบันยังขาดประสิทธิภาพที่เพียงพอต่อการทำงาน

กรมชลประทาน ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงเกิดแนวคิด โครงการพัฒนาระบบคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง (Development of Reservoir Operation Simulation System In Medium Scale Reservoirs.) โดยนายพีระพงศ์ รัตนบุรี หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า “เพื่อพัฒนาระบบคาดการณ์ปริมาณน้ำใช้ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและสามารถลดข้อผิดพลาดรวมถึงลดระยะเวลาในการประมวลผลของข้อมูล โครงการนี้มีการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบให้มีความทันสมัย สามารถประมวลผลข้อมูลได้อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยในด้านการวิเคราะห์ข้อมูลให้ถูกต้อง รวดเร็วและแม่นยำ ช่วยในด้านการเชื่อมโยงข้อมูลจากฐานข้อมูลที่จำเป็นและเกี่ยวข้องในการคาดการณ์ปริมาณน้ำ

นายมาณพ พรมดี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ในส่วนของการแสดงผลข้อมูลที่ได้จากระบบคาดการณ์ปริมาณน้ำที่ได้มีการพัฒนาตามที่กล่าวมานั้น ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนให้ง่ายต่อการใช้งานไม่ว่าจะเป็นการแสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบจำลองผ่านเว็บแอปพลิเคชัน (Web Application) ในรูปแบบของออนไลน์ (Online) หรือแม้กระทั่งการแสดงผลผ่านการใช้งานบนระบบมือถือ (Mobile Application) การทำงานและการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางต่อจากนี้จะมีความสะดวก รวดเร็วและง่ายมากขึ้น” ซึ่งเป็นจุดเด่นของโครงการดังกล่าว

สอดคล้องกับทางด้านนายวชิระ สุรินทร์ กล่าวเสริมว่า “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดังกล่าวยังตอบสนองต่อนโยบายของกรมชลประทานและไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งปรับเปลี่ยนองค์กรให้เป็นองค์กรอัจฉริยะ และให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถในการทำงานที่ตั้งอยู่บนฐานดิจิทัล (Digital Platform) โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ เข้ามาช่วยให้ระบบการทำงานมีความทันสมัยต่อสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า โครงการพัฒนาระบบคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั้น เป็นกุญแจสำคัญที่จะสามารถแก้ไขปัญหาในการบริหารจัดการน้ำและการจัดสรรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 412 แห่ง เพื่อที่จะสามารถขับเคลื่อนและนำพาประเทศให้มีความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ ส่งผลให้สามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มคุณภาพชีวิตและความมั่นคงทางรายได้ของเกษตรกร ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์การใช้งานน้ำในด้านต่าง ๆ ได้อย่าง ทั่วถึง รวดเร็ว ถูกต้องและตรงจุด ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ มั่นคงและยั่งยืนเพื่อประโยชน์สูงสุดของชาวไทย

 

No Comments

    Leave a Reply