News

ชป.พร้อมรับมือน้ำหลาก หลังอุตุฯเตือน 18 -19 ก.ย.นี้ พายุดีเปรสชั่นมีแนวโน้มเข้าไทย

15/09/2020

ด้วยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา มีความห่วงใยต่อประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชั่นที่กำลังเคลื่อนตัวอยู่ในทะเลจีนใต้ และอาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ตอนบน ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลากอย่างใกล้ชิด

 

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(15 ก.ย.63) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 36,581 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุเก็บกัก มีปริมาณน้ำใช้การ 12,771 ล้านลูกบาศก์เมตร ประกอบกับหนังสือแจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำหลากของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ วันที่ 14 กันยายน 2563 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 18 – 19 กันยายน 2563 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชั่น และจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้อ่าวตังเกี๋ยและชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลให้บริเวณประเทศไทยตอนบน มีฝนตกเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่ง เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน โดยให้เจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หากมีฝนตกหนักหรือลมกระโชกแรงจนส่งผลกระทบต่ออาคารชลประทาน และทรัพย์สินของทางราชการ ให้เร่งเข้าไปดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ให้คอยติดตาม ตรวจสอบสภาพความปลอดภัยเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ อาคารชลประทาน ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน รวมทั้งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด โดยไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ

สำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ได้กำชับให้ทุกพื้นที่เสี่ยงน้ำน้อย ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับทราบถึงสถานการณ์น้ำต้นทุนที่มีอยู่น้อย และขอให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก หากพื้นที่ใดมีการเพาะปลูกไปแล้วให้บริหารจัดการน้ำท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนพื้นที่ใดยังไม่มีการเพาะปลูกให้พิจารณาปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน พร้อมทั้งปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ฝน รวมไปถึงเตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อเป็นแก้มลิงในการหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลากไว้ด้วย นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักร เครื่องมือ เช่น รถแบคโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ประจำในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ทันที

No Comments

    Leave a Reply