กรมชลฯ พร้อมเครื่องจักร ระดมทำงาน 24 ชั่วโมง ตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ใช้ระบบบรรเทาอุทกภัยเมืองลดผลกระทบ ปชช.แม้ยังไม่เสร็จ 100% แต่ใช้เสริมงานระบายน้ำช่วยเมืองได้
นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ประสบอุทกภัย 2 วันที่ผ่านมาพร้อมด้วย นายปริญญา สัคคะนายก ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 15 นายเดช เล็กวิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 16 และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง พบว่าจากสถานการณ์ฝนตกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมามีปริมาณฝนสะสมกว่าพันมิลลิเมตรทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากบ่าเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตร ซึ่งกรมชลประทานได้ตั้งศูนย์ส่วนหน้าบรรเทาอุทกภัย ฯ และระดมเครื่องจักรเครื่องมือจากส่วนกลางลงช่วยพื้นที่ประสบภัยอย่างเร่งด่วน จากการปฏิบัติการต่อเนื่องมา 3-4 วันคาดว่าที่จังหวัดนครศรี ฯ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนคือพื้นที่ในเมืองนครศรีธรรมราชที่รับน้ำจากคลองท่าดี ซึ่งมีฝนตกสะสม มากกว่า 900 มิลลิเมตร ได้เกิดปริมาณน้ำไหลหลากเข้าสู่ตัวเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งกรมชลประทานได้ให้ความช่วยเหลือให้การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เร่งระบายออกจากตัวเมือง ปัจจุบันเข้าสู่สถานการณ์ปกติใช้เวลาในการระบายน้ำเพียง 3 วัน
ในส่วนรอบนอกเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังที่รับน้ำหลากจาก คลองเสาธงซึ่งมีปริมาณน้ำมากและท่วมเป็นบริเวณกว้าง กรมชลประทานได้ดำเนินการเร่งระบายน้ำผ่านอาคารชลประทานหลัก รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำโดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำระบายลงแม่น้ำปากพนังและทางทะเล คาดว่าปริมาณน้ำจะลดระดับเข้าสู่ภาวะปกติประมาณ 10-15 วัน แต่ยังมีพื้นที่ลุ่มต่ำบางส่วนที่ยังไม่สามารถเข้าติดตั้งเครื่องสูบน้ำหรือเครื่องจักรกลได้ อย่างไรก็ตามระหว่างนั้นหากน้ำลดระดับลงจนสามารถตั้งเครื่องจักรเข้าช่วยได้กรมชลฯ จะเร่งติดตั้งเครื่องช่วยทันทีเพื่อช่วยลดระดับน้ำให้เร็วที่สุด
“นายกรัฐมนตรี และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ฝากความเป็นห่วงถึงพี่น้องประชาชนทุกคน ขณะที่สวนส้มโอทับทิมสยามพืชเศรษฐกิจของจังหวัดนครฯ กรมได้ใช้รถแบ็คโฮสร้างคันกั้นน้ำป้องกันน้ำไหลเข้าพื้นที่เพิ่ม พร้อมเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำออกจากแปลงใหญ่ส้มโอเพื่อช่วยชาวสวนแล้วคาดว่าจะสูบน้ำที่ท่วมขังได้ภายใน 5 วัน สำหรับพื้นที่ลุ่ม พื้นที่การเกษตร กรมจะประสานกับท้องถิ่นในการวางแผนการสูบให้ตรงความต้องการของเกษตรกรที่บางพื้นที่อาจต้องการเก็บน้ำทำการเกษตร ทั้งนี้ขอบคุณพี่น้องเกษตรกร และผู้นำท้องถิ่น ที่ร่วมมือในการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดความเดือดร้อนให้ได้มากที่สุด ”นายประพิศกล่าว
สำหรับมวลน้ำก้อนใหญ่จากอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชที่ได้เข้าสู่พื้นที่อำเภอห้วยยอด และ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เมื่อคืนวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา กรมชลฯได้คุมมวลน้ำที่ไหลเข้าแม่น้ำตรังช่วงผ่านตัวเมืองพื้นที่เศรษฐกิจไม่ให้เกิน 300 ลูกบาศ์กเมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที และน้ำอีกจำนวนหนึ่งให้ผ่านระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง ซึ่งเป็นเส้นบายพาสที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างช่วยการระบายน้ำได้ประมาณ 360 ลบ.ม.ต่อวินาที จากศักยภาพเมื่อแล้วเสร็จจะสามารถระบายน้ำได้ 750 ลบ.ม.ต่อวินาที อย่างไรก็ตามเนื่องจากระบบระบายบางช่วงผ่านถนนทางหลวงช่วง สิเกา-ตรัง ที่กรมทางหลวงอยู่ระหว่างดำเนินการ กรมชลฯ ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเสริมเพื่อช่วยเร่งการระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยเร็วที่สุด
“ขณะนี้ที่ตรัง กรมชลฯได้ตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมทำให้สามารถระบายน้ำเพิ่มประมาณ 800,000 ลบ.ม.ต่อวัน โดยมีการทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้น หากไม่มีฝนเติมก็คาดว่าใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติปกติ “ นายประพิศกล่าว
สำหรับจังหวัดตรัง ปัจจุบันมีพื้นที่ลุ่มต่ำได้รับผลกระทบ 1 อำเภอ คืออำเภอเมืองตรัง บริเวณ ตำบลบางรัก และตำบลหนองตรุด โดยแนวโน้มสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดตรัง ที่สถานีวัดน้ำท่า x.56 บ้านท่าประดู่ อำเภอห้วยยอด ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 47 เซนติเมตร มีแนวโน้มลดลง ที่สถานี x.228 บ้านกลาง อำเภอเมือง ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 85 เซนติเมตร มีแนวโน้มลดลง ที่สถานี x.234 บ้านป่าหมาก อำเภอเมือง ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 84 เซนติเมตร มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และสถานี x.47 บ้านท่าจีน อำเภอเมือง ระดับน้ำ สูงกว่าตลิ่ง 48 เซนติเมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
No Comments