News

มกอช. เดินหน้าพัฒนาเกษตรกรนาแปลงใหญ่ ด้วยระบบ ICS หวังสร้างความเข้มแข็งการผลิตข้าวไทย อย่างยั่งยืน

02/09/2020

ขณะที่กลุ่มผู้ปลูกข้าวอินทรีย์บ้านเมืองคลอง จ.ร้อยเอ็ด เข้าร่วมตรวจรับรองแบบกลุ่ม หวังผลิตข้าวอินทรีย์ ได้มาตรฐานป้อนตลาด

ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า การผลิตข้าวไทย ให้มีความยั่งยืน เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านคุณภาพ และศักยภาพการแข่งขันในด้านการตลาด สิ่งที่สามารถยืนยันได้ว่า การผลิตข้าวมีความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม คือการมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มเกษตรกร พร้อมกันนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มผลิตและบริหารจัดการในรูปแบบ “นาแปลงใหญ่” ซึ่งผสานเชื่อมโยงตั้งแต่เริ่มการผลิตข้าวไปจนถึงด้านการตลาด เพื่อให้ได้สินค้าเกษตรที่ปลอดภัย รวมทั้งการผลิตข้าวที่ได้มาตรฐาน อาทิ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) และมาตรฐานข้าวอินทรีย์ โดยผ่านกระบวนการรับรองมาตรฐานแบบกลุ่ม

กระบวนการรับรองมาตรฐานแบบกลุ่ม จะช่วยประหยัดงบประมาณและเวลา สร้างความเข็มแข็งและความยั่งยืนในการผลิตให้กับกลุ่มเกษตรกร เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถขอการรับรองได้รวดเร็วขึ้น โดยกลุ่มเกษตรกรต้องจัดทำระบบควบคุมภายใน (Internal Control System : ICS) ซึ่งการมีระบบควบคุมภายในของกลุ่มจะช่วยให้กลุ่มมีการบริหารงานเป็นระบบในลักษณะการประกันคุณภาพกระบวนการผลิตของกลุ่มเกษตรกร โดยใช้เอกสารต่างๆ เป็นเครื่องมือช่วยให้กลุ่มสามารถปฏิบัติงานได้ถูกต้องตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง หรือข้อปฏิบัติของกลุ่มที่ได้ตกลงกันไว้

ที่ผ่านมา มกอช. ได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาระบบการผลิตตามมาตรฐานโดยใช้ระบบการรับรองแบบกลุ่ม” ให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวในพื้นที่โครงการนาแปลงใหญ่ ซึ่งบูรณาการงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมการข้าว เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำแก่กลุ่มเกษตรกร ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองแบบกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี อุตรดิตถ์ ยโสธร และสุรินทร์ โดยให้ความรู้และคำแนะนำแก่กลุ่มเกษตรกรให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองแบบกลุ่ม การพัฒนาเอกสารระบบควบคุมภายในกลุ่ม ตลอดจนส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรขอการรับรองแบบกลุ่มขอบข่าย การผลิตข้าว GAP/อินทรีย์ โดยบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบของกรมการข้าวในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กลุ่มเกษตรกรก่อนที่จะขอการรับรองแบบกลุ่มกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

โดยปี 2563 มกอช. ได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาระบบการผลิตตามมาตรฐานโดยใช้ระบบการรับรองแบบกลุ่ม” ให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวในพื้นที่โครงการนาแปลงใหญ่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวเข้าร่วมโครงการฯ 7 กลุ่ม เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรมีความรู้และทักษะในการจัดทำเอกสารระบบควบคุมภายในตามมาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ และเตรียมความพร้อมให้กลุ่มเกษตรกรในการขอการรับรองแบบกลุ่มขอบข่ายการผลิตข้าวอินทรีย์ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมเข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว เกษตรกรสามารถติดตราสัญลักษณ์ Q บนผลผลิตทางการเกษตรได้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า เป็นสินค้าเกษตรปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อ และเลือกบริโภคสินค้าเกษตรปลอดภัย รวมทั้งสามารถนำไปวางจำหน่ายในตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ www.DGTFarm.com อีกด้วย”เลขาธิการ มกอช. กล่าว

ขณะที่นายทองมา สิงห์มาก ประธานกลุ่มผู้ปลูกข้าวอินทรีย์บ้านเมืองคลอง หมู่ 4 ตำบลหนองขาม อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มฯ มีสมาชิก 16 ราย พื้นที่ปลูกข้าว 129 ไร่ โดยการรวมกลุ่มของเกษตรกรสมาชิก เพื่อให้ได้การรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งและมีความยั่งยืนในอาชีพปลูกข้าว ซึ่งสมาชิกกลุ่มมีเป้าหมายร่วมกันคือ ผลิตข้าวให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้ตัวเอง และผู้บริโภคมีความปลอดภัย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ เช่น มกอช. ได้ให้ความรู้เรื่องมาตรฐานข้าวอินทรีย์ว่ามีประโยชน์อย่างไร เรื่องการรับรองมาตรฐานแบบกลุ่ม การตรวจแปลง
ทั้งนี้ กลุ่มฯ ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบการผลิตตามมาตรฐานโดยใช้ระบบการรับรองแบบกลุ่ม เป็นปีที่ 2 แล้ว ซึ่งในปีที่ 1 กลุ่มฯ อยู่ในระยะปรับเปลี่ยน ขณะนี้กำลังเข้าสู่ปีที่ 2 กำลังเร่งดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การรับรองมาตรฐาน โดยแรกเริ่มกลุ่มฯ ผลิตข้าวมาตรฐาน GAP และได้ก้าวมาสู่การปลูกข้าวอินทรีย์ เนื่องจากช่วยให้ผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน หากเรามีใบรับรองการผลิตข้าว จะสามารถต่อรองราคากับผู้ซื้อได้ในราคาที่สูงขึ้น รวมทั้งจากการศึกษาตลาดพบว่า ผู้บริโภคต้องการข้าวที่ปลอดภัย

 

No Comments

    Leave a Reply