News

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ จ.ฉะเชิงเทรา

18/03/2022

วันที่ 18 มีนาคม 2565 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามความก้าวหน้าโครงการพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีนายลลิต ถนอมสิงห์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นายทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 นายธานินทร์ เนื่องทศเทศ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานฉะเชิงเทรา และคณะ เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ


นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กราบบังคมทูลรายงานการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำโจนตามแนวพระราชดำริและการบริหารจัดการน้ำในปัจจุบันของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ โดยลุ่มน้ำโจนมีพื้นที่ทั้งหมด 70 ตร.กม. มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,400 มิลลิลิตร/ปี ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 33,000,000 ลบ.ม./ปี ในการพัฒนาแหล่งน้ำ กรมชลประทานได้ดำเนินการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 โดยได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยเจ็กเป็นลำดับแรก พร้อมพิจารณาวางโครงการชลประทานที่จะทำการก่อสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กไว้ตามบริเวณลําห้วยที่เป็นลําน้ำสาขาของลําน้ำโจนเพื่อเก็บกักน้ำไว้สําหรับส่งน้ำให้กับพื้นที่ของลุ่มน้ำโจนทั้งหมด โดยมีการดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อปิดกั้นลำห้วยต่างๆ รวม 10 แห่ง มีความจุรวม 5,782,000 ลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 6,330 ไร่ แบ่งเป็นอ่างเก็บน้ำในเขตพื้นศูนย์ศึกษา 5 แห่ง ความจุ 369,000 ลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 600 ไร่ และอ่างเก็บน้ำที่อยู่นอกพื้นที่ศูนย์ศึกษา 5 แห่ง ความจุ 5,413,000 ลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 5,730 ไร่

กรมชลประทานได้มีการบริหารจัดการน้ำศูนย์การพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังนี้
-การบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ภายในพื้นที่ศูนย์ศึกษา โดยใช้รูปแบบการผันน้ำแบบ “อ่างใหญ่เติมอ่างเล็ก” โดยอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 2 (ห้วยน้ำโจนตอนบน)จะผันน้ำมายังอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 8 (ห้วยสำโรงเหนือตอนบน) เพื่อผันน้ำต่อไปยัง 2 อ่างเก็บน้ำ ในพื้นที่ศูนย์ อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 12 (ห้วยเจ็ก) และอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 10.2-10.1 (ห้วยสำโรงเหนือตอนล่าง) ตามระดับของภูมิประเทศ เพื่อที่จะกระจายน้ำสำหรับใช้ในกิจกรรมของศูนย์ปีละประมาณ 400,000 ลบ.ม.

– การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 5 (ห้วยสำโรงใต้) จะส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน 300 ไร่ และปล่อยน้ำไปยังลำน้ำโจนเพื่อใช้สูบกลับเข้าไปใช้ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาในปีที่น้ำจากอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 2 (ห้วยน้ำโจนตอนบน) และ 8 (ห้วยสำโรงเหนือตอนบน)ไม่เพียงพอ

– การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำของอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่ง ที่ 6 (ห้วยมันปลา) และ 16 (ห้วยเจริญสุข) จะส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน 200 ไร่ และ 3,600 ไร่ ตามลำดับ พร้อมทั้งระบายน้ำไปยังลำน้ำโจนเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำโจน และคลองท่าลาด

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างฝายทดน้ำเป็นระยะๆ เพื่อใช้ในการเก็บกักน้ำตลอดลำน้ำโจนก่อนที่จะไหลลงสู่คลองท่าลาด รวมมีพื้นที่รับประโยชน์ 6,475 ไร่ สำหรับช่วยให้เกษตรกรและประชาชนให้มีน้ำเพื่อใช้ได้ตลอดปี

No Comments

    Leave a Reply