News

มกอช. เดินเครื่องพัฒนาเกษตรกรแปลงใหญ่จิ้งหรีด ยกระดับฟาร์มสู่มาตรฐาน

02/09/2020

จากที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations ; FAO) ได้ส่งเสริมให้คนหันมาบริโภคจิ้งหรีด ซึ่งเป็นแมลงที่บริโภคได้ เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ที่มีราคาถูกและสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น และรัฐบาล ได้เล็งเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพและมีความชำนาญในการเพาะเลี้ยงแมลงในเชิงพาณิชย์ จึงได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีด เนื่องจากปัจจุบัน การส่งออกจิ้งหรีด ทั้งในรูปแบบสด แช่แข็ง และการแปรรูป ช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในช่วงหลังการทำนาหรือในช่วงฤดูแล้ง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จึงได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560)เป็นมาตรฐานทั่วไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อความปลอดภัยของผลิตผลจากจิ้งหรีด โดยมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจรับรองตามมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) เพื่อรองรับการยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด

ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า มกอช. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทย ได้จัดทำ “โครงการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด ภายใต้นโยบายการเกษตรแบบแปลงใหญ่ให้แก่เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีด เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด ขั้นตอนการยื่นขอการรับรองตามมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานประจำฟาร์ม และการจดบันทึกข้อมูลในแบบฟอร์มในการบันทึกข้อมูลผลการปฏิบัติงานในขั้นตอนที่สำคัญในการจัดการฟาร์ม รวมทั้งมีความพร้อมในการยื่นขอการตรวจรับรองฟาร์มมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ได้

โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา มกอช. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด ระยะที่ 1 ให้แก่เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีด 6 แห่ง ใน 6 จังหวัด เกษตรกรรวม 332 ราย พบว่า มีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายที่ผ่านการอบรมจากโครงการส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด ระยะที่ 1 จาก มกอช. ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีดจากกรมปศุสัตว์ จำนวน 22 ราย ได้แก่ เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 21 ราย และ เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 1 ราย

ทั้งนี้ ในปี 2563 มกอช. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมความรู้ทางเทคนิคให้แก่เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดกลุ่มอื่นๆ และได้มีโครงการส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด ระยะที่ 2 แก่เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรในปี 2562-2563 เพื่อให้เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดมีความพร้อมในการยื่นขอการรับรองมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีดจากกรมปศุสัตว์ได้
โดย มกอช. ได้ดำเนินงานจัดอบรมให้แก่เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดไปแล้ว 3 กลุ่ม ได้แก่ เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีด อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี จำนวน 31 คน เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีด อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย จำนวน 44 คน และเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีด ตำบลหนองพระ อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 44 คน

นอกจากนี้ มกอช. ได้กำหนดแผนการดำเนินการจัดอบรมเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีด จำนวน 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.วันที่ 31 สิงหาคม 2563 เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น จำนวน 30 คน 2.วันที่ 1 กันยายน 2563 เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดตำบลบ้านหัน อำเภอโนนศิลา จังหวัดขอนแก่น จำนวน 37 คน 3.วันที่ 2 กันยายน 2563 เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีfตำบลหนองแวงโสกพระ อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น จำนวน 35 คน 4.วันที่ 3 กันยายน 2563 เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดตำบลโคกสี อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น จำนวน 39 คน และ5.วันที่ 4 กันยายน 2563 เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีด อำเภอกระสัง อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 37 คน

“หลังจากที่ มกอช. ได้ดำเนินการจัดอบรมเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มจิ้งหรีดเรียบร้อยแล้ว มกอช. จะดำเนินการคัดเลือกเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดกลุ่มเป้าหมายร่วมกับเกษตรอำเภอในแต่ละพื้นที่ และติดตามเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายในการนำข้อกำหนดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับฟาร์มจิ้งหรีดไปปฏิบัติใช้ต่อไป อย่างไรก็ดี เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมเข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว เกษตรกรสามารถติดตราสัญลักษณ์ Q บนผลผลิตทางการเกษตรได้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า เป็นสินค้าเกษตรปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อ และเลือกบริโภคสินค้าเกษตรปลอดภัย รวมทั้งสามารถนำไปวางจำหน่ายในตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ www.DGTFarm.com อีกด้วย”เลขาธิการ มกอช. กล่าว

No Comments

    Leave a Reply