ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ไข่ในประเทศไทย ต้องสร้างความเชื่อมั่น และเฝ้าระวังควบคุมความปลอดภัยและคุณภาพไข่ไก่ รวมถึงการจัดการตลาดภายในประเทศ และการเปิดตลาดการค้าไข่ไก่ในต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมการจัดการฟาร์มไก่ไข่ที่เลี้ยงไก่ไข่เพื่อการค้า จำนวนตั้งแต่ 1,000 ตัวขึ้นไป เพื่อยกระดับการปฏิบัติทางการเกษตรสำหรับฟาร์มไก่ไข่ ให้ได้ไข่ไก่ที่ปลอดภัย มีคุณภาพเหมาะสมในการนำไปบริโภคเป็นอาหาร รวมทั้งเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านการผลิตของฟาร์มไก่ไข่ในประเทศ
ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 โดยกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ มาตรฐานเลขที่ มกษ.6909-2562 ไว้เป็นมาตรฐานทั่วไป เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาฟาร์มไก่ไข่ให้เป็นที่ยอมรับในการค้าทั้งในและระหว่างประเทศ และต่อมาได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร สำหรับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ (มกษ.6909-2562) เป็นมาตรฐานบังคับ
นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวว่า สำหรับกฎกระทรวงดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้กับผู้ประกอบการฟาร์มไก่ไข่ โดยฟาร์มที่เลี้ยงไก่ไข่ตั้งแต่จำนวน 100,000 ตัวขึ้นไป ให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564 ส่วนฟาร์มที่เลี้ยงไก่ไข่ตั้งแต่จำนวน 1,000 ถึง 99,999 ตัว ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 5 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563) ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดไม่ปฏิบัติตาม จะมีบทลงโทษตามกฎหมาย
อย่าไรก็ดี มกอช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำมาตรฐานบังคับดังกล่าวไปสู่ผู้ปฏิบัติ จึงจัดสัมมนาโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่เป็นมาตรฐานบังคับ (มกษ.6909-2562) เพื่อให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในข่ายที่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าว มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 และสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง โดยมีผู้ประกอบการฟาร์มไก่ไข่จากทั่วประเทศและเจ้าหน้าที่จากกรมปศุสัตว์ เข้าร่วมสัมมนา ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
เพื่อเป็นการให้ความรู้ด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ (มกษ.6909-2562) หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการตรวจประเมินสถานประกอบการ การขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ การแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับสำหรับฟาร์มไก่ไข่ การควบคุม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังตามมาตรฐานสินค้าเกษตร นอกจากนี้ ยังมีหน่วยบริการเคลื่อนที่สำหรับให้คำปรึกษา รวมทั้งบริการรับคำขอเพื่อออกใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการฟาร์มไก่ไข่ให้สามารถดำเนินการขอใบรับรองได้ทันในวันที่กำหนด รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่มาตรฐานบังคับต่อไป
“ทั้งนี้ ผู้ประกอบการฟาร์มไก่ไข่ สามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ ผ่านระบบ TAS-License โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ http://tas.acfs.go.th หรือผ่านเว็บไซต์ของ มกอช. www.acfs.go.th รวมทั้งยื่นคำขอรับใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรได้ที่ กรมปศุสัตว์ หรือผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานที่ได้รับใบอนุญาตให้ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานจาก มกอช.” เลขาธิการ มกอช. กล่าวทิ้งท้าย
No Comments