News

ชป.เร่งช่วยเหลือและเฝ้าระวังพื้นที่น้ำท่วม หลังมีฝนตกหนักทางตอนบน

22/08/2020

ฝนที่ตกหนักทางตอนบนของประเทศในระยะนี้ เนื่องจากได้รับอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้เกิดน้ำบ่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำหลายพื้นที่ กรมชลประทาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ตอนบนของประเทศ เกิดจากร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และประเทศไทย พบว่ามีพื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม 5 จังหวัด ดังนี้

จังหวัดลำปาง ฝนที่ตกหนักในเขต อ.เมืองปาน วัดปริมาณฝนได้ 47.2 มิลลิเมตร(มม.) ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร รวมถึงพื้นที่การเกษตร และสิ่งสาธารณประโยชน์ ได้รับผลกระทบเสียหายบางส่วน รวม 2 ตำบล ได้แก่ ต.เมืองปาน และ ต.บ้านขอ ปัจจุบันสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วจังหวัดแพร่ เกิดฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำบ่าไหลหลากในลำห้วยแม่แคม เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรบ้านถิ่น ต.บ้านถิ่น อ.เมืองแพร่ มีพื้นที่การเกษตรที่อยู่ริมตลิ่งได้รับความเสียหายบางส่วน นอกจากนี้ ยังได้เกิดน้ำบ่าไหลหลากในลำห้วยแม่สาย-แม่ก๋อน เข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนราษฎรบ้านป่าแดง หมู่ที่ 3 และหมู่ 5 ต.ป่าแดง อ.เมืองแพร่ โครงการชลประทานแพร่ ได้เตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือและเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุดังกล่าว ด้านสถานการณ์น้ำในแม่น้ำยมบริเวณจังหวัดแพร่ เช้าวันนี้(22 ส.ค. 63) ที่สถานีวัดน้ำท่า Y.1C บ้านน้ำโค้ง อ.เมืองแพร่ เมื่อเวลา 06.00 น. วัดระดับน้ำได้ 8.53 เมตร
สูงกว่าตลิ่งประมาณ 33 เซนติเมตร (ระดับตลิ่งสูง 8.20 เมตร) แนวโน้มน้ำยังคงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากไม่มีปริมาณฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าระดับน้ำที่สถานี Y.1C จะกลับสู่ระดับตลิ่งประมาณช่วงเช้าของวันที่ 23 สิงหาคม 2563
จังหวัดน่าน เกิดฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยปริมาณฝนวัดได้ ที่อ.แม่จริม 99.5 มม. อ.บ่อเกลือ 90 มม. อ.ภูเพียง 97.6 มม. และอ.เวียงสา 96.6 มม. ทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ต่างๆ อาทิ อำเภอเฉลิมเกียรติ ที่ตำบลขุนน่าน เกิดดินสไลด์ปิดทับผิวทางจราจร เส้นทางหมายเลข 1018 – 0103 สายบ่อเกลือ – เฉลิมเกียรติ บริเวณกม.112+350 – 112+975 ทำให้การจราจรไม่สามารถผ่านได้ อำเภอเวียงสา ที่ตำบลน้ำมวบ เกิดน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งจากลำน้ำมวบเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร บ้านน้ำมวบ หมู่ที่ 1 บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย 22 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว อำเภอเมืองน่าน ที่ตำบลสวก หมู่ที่ 5,7,11 และ 13 บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย 60 ครัวเรือน อำเภอภูเพียง ที่ตำบลเมืองจัง บ้านเมืองหลวง หมู่ที่ 4 บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย 3 ครัวเรือน ส่วนที่แม่น่าน เมื่อเวลา 04.00 น.ที่ผ่านมา วัดระดับน้ำตามสถานีต่างๆ ได้ ดังนี้ สถานีวัดน้ำท่า N.1 อ.เมืองน่าน วัดระดับน้ำได้ 7.23 เมตร สูงกว่าตลิ่ง 23 เซนติเมตร(ระดับตลิ่งสูง 7.00 เมตร) แนวโน้มทรงตัว ส่วนที่สถานีวัดน้ำท่า N.13A อ.เวียงสา วัดระดับน้ำได้ 9.76 เมตร มีน้ำล้นตลิ่ง 2.67 เมตร(ระดับตลิ่งสูง 7.09 เมตร(ตลิ่งต่ำ)) แนวโน้มระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้น
สำหรับในพื้นที่ภาคตะวันตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำยังตอนบนของจังหวัดกาฬสินธุ์ และ ลุ่มน้ำยังตอนล่างของจังหวัดร้อยเอ็ด ส่งผลให้ระดับน้ำในลุ่มน้ำยังตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในเขต อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด รวม 7 ตำบล พื้นที่ 9,910 ไร่ ประกอบด้วย ต.บึงเกลือ ต.ภูเงิน ต.วังหลวง ต.ขวาว ต.เหล่าน้อย ต.เมืองไพร และ ต.ศรีวิลัย


โครงการชลประทานร้อยเอ็ด ได้บริหารจัดการลุ่มน้ำยัง โดยใช้ประตูระบายน้ำที่กระจายอยู่ในลำน้ำยัง ช่วยตัดยอดปริมาณน้ำได้สูงสุดรวม 40 ลบ.ม./วินาที อีกทั้ง ยังสามารถนำเข้าไปเก็บสำรองไว้ในแก้มลิง 3 แห่ง ได้แก่ แก้มลิงบึงบ่อแก แก้มลิงบึงเกลือ และแก้มลิงกุดปลาคูณ โดยได้ทำการเรียงหินป้องกันการกัดเซาะจากการตัดยอดน้ำด้านท้ายน้ำอีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการจัดจราจรน้ำชี-น้ำยัง ร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ 6 และ 7 ด้วยการเปิดบานระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำบริเวณเหนือเขื่อนยโสธรและเขื่อนธาตุน้อย ไว้รองรับปริมาณน้ำที่จะไหลหลากลงมาสมทบจากน้ำยังตอนบน หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มปริมาณน้ำทั้งหมดจะไหลลงสู่แม่น้ำชี และบางส่วนจะถูกผันเข้าไปเก็บกักไว้ตามแก้มลิงและแหล่งน้ำธรรมชาติ สำรองไว้ใช้ในยามขาดแคลนต่อไป ทั้งนี้ ยังได้มีการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือประจไว้ในพื้นที่ อาทิ เครื่องสูบน้ำ 27 เครื่อง, เครื่องผลักดันน้ำ 13 เครื่อง, กระสอบบรรจุทราย 12,000 กระสอบ, กล่อง Mattress ขนาด2x4x0.3 ม.,หินใหญ่,เสาเข็มพืด(Sheet pile) พร้อมเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอดแนวผนังกั้นน้ำยัง ปัจจุบันได้ทำการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำด้านท้ายฝายยางบ้านท่าลาด 10 เครื่อง พร้อมกับแจ้งเตือนภัยไปยังพื้นที่ที่น้ำล้นตลิ่งฝั่งซ้ายของลำน้ำยัง และเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านจังหวัดสกลนคร เกิดฝนตกหนักเมื่อวันที่ 19 – 20 สิงหาคม 2563 จากอิทธิพลของพายุ ฮีโกส บริเวณอ.ส่องดาว อ.สว่างแดนดิน และอ.วาริชภูมิ ทำให้ลำน้ำยามและห้วยปลาหาง มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรบริเวณ บ.สร้างแป้น ต.แวง อ.สว่างแดนดิน และ บ.โพนแพง ต.ม่วงไข่ อ.พังโคน พื้นที่น้ำท่วมประมาณ 800 ไร่ ระดับน้ำท่วมประมาณ 1 เมตร ปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมมีแนวโน้มทรงตัว คาดว่าหากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2-3 วันนี้ โครงการชลประทานสกลนคร ได้ใช้เครื่องจักรขุดคันดินคลองส่งน้ำ LMC ช่วง กม.2+500 เพื่อช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่และเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว พร้อมกับเปิดประตูระบายน้ำโครงการห้วยปลาหางตอนล่าง 3 บาน เร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่องแล้ว

No Comments

    Leave a Reply