ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายการผลิตเมล็ดข้าวพันธุ์ดี โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การส่งเสริมให้เกษตรกร ทั้งกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่นาข้าว และเกษตรกรทั่วไป ผลิตข้าวคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ซึ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี นับได้ว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการผลิตข้าวที่มีคุณภาพ ซึ่งการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน นอกจากขั้นตอนการผลิตที่เป็นส่วนสำคัญแล้ว การควบคุมคุณภาพด้วยระบบตามสอบ (Traceability) โดยเฉพาะระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์สำหรับผู้ประกอบการ ขนาดกลางและขนาดเล็ก (QR Trace On Cloud ) ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น น่าเชื่อถือให้กับเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่จะส่งต่อให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าวของภาครัฐทั้งระบบ
ทั้งนี้ มกอช. โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้มีการพัฒนาระบบ QR Trace On Cloud ที่รองรับการใช้งานครอบคลุม ทั้งสินค้ากลุ่มพืช ผัก/ผลไม้ กลุ่มสินค้าข้าว สินค้าไข่ สินค้าประมง สินค้าปศุสัตว์ และสินค้าแปรรูป/อาหาร ปัจจุบันมีการใช้งานในกลุ่มสินค้าข้าวแล้ว 189 ราย ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมา มกอช. ร่วมกับกรมการข้าว ได้มีแผนการดำเนินการสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยระบบ QR Trace On Cloud โดยมีการจัดอบรมการใช้งานระบบ QR Trace on Cloud ให้แก่เจ้าหน้าที่ กองเมล็ดพันธุ์ข้าว เจ้าหน้าที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว จำนวน 28 ศูนย์ทั่วประเทศ ได้แก่ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดเชียงใหม่ พะเยา ลำปาง แพร่ กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิษณุโลก สุโขทัย ชัยนาท ลพบุรี ชลบุรี ราชบุรี นครนายก ปัตตานี พัทลุง สุราษฏร์ธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อุดรธานี สกลนคร บึงกาฬ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ และมีผู้สมัครใช้งานทั้งหมด 28 ศูนย์
อย่างไรก็ตาม นอกจากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ทำหน้าที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพแล้ว ศูนย์ข้าวชุมชน ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรสำคัญที่เป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาการผลิตข้าว และเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีไว้ใช้เองอย่างเพียงพอในชุมชน เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดี ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนภารกิจด้านการตามสอบของเมล็ดพันธุ์ข้าว มกอช. ได้ดำเนินการจัดอบรมการใช้งานระบบ QR Trace on Cloud ให้แก่ศูนย์ข้าวชุมชนที่ผ่านการรับรองของระบบการตรวจรับรองการผลิตเมล็ดพันธุ์ ตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว (GAP Seed) จำนวน 24 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย นครสวรรค์ อุทัยธานี เพชรบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุบลราชธานี โดยมีกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ และเกษตรกรทั่วไป เข้าร่วมอบรม 155 ราย ซึ่งมีศูนย์ข้าวชุมชนนาแปลงใหญ่ และเกษตรกรทั่วไป สมัครใจนำไปใช้งานบ้างแล้วอาทิเช่น ศูนย์ข้าวชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด ได้เข้าร่วมการอบรมจำนวน 3 แห่ง เกษตรกร 30 ราย และสมัครใช้งานทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอีเตี้ยสองพี่น้อง ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโนนโพธิ์ และศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโนนสวรรค์ แต่เนื่องจากอยู่ระหว่างการเพาะปลูกจึงยังไม่มีการเริ่มต้นใช้งานระบบ
“มกอช. ต้องการยกระดับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่นาข้าว และเกษตรกรทั่วไป โดยการนำ ระบบ QR Trace on Cloud ไปใช้งาน สร้างความเชื่อมั่นในระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของไทย พร้อมทั้งมีกระบวนการผลิตตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวสามารถแข่งขันทางการค้า นอกจากนี้ เกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมเข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว เกษตรกรสามารถติดตราสัญลักษณ์ Q บนผลผลิตทางการเกษตรได้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า เป็นสินค้าเกษตรปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อ และเลือกบริโภคสินค้าเกษตรปลอดภัย รวมทั้งสามารถนำไปวางจำหน่ายในตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ www.DGTFarm.com อีกด้วย”เลขาธิการ มกอช. กล่าว
No Comments