“มกอช.”สบช่อง รุกยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงดันเข้าระบบจิ้งหรีด GAP แปลงใหญ่ เสริมเขี้ยวเล็บเกษตรกรผู้เลี้ยงรองรับการขยายตลาดส่งออก พุ่งเป้าเจาะตลาดใหม่ย่านทวีปอเมริกา ละตินอเมริกา แอฟริกากวาดรายได้เข้าประเทศปีละพันล้าน
นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวภายหลังนำคณะสื่อมวลชนติดตามความก้าวหน้าการส่งเสริมการยกระดับการเลี้ยงจิ้งหรีด GAP ภายใต้นโยบายการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อยกระดับการแข่งขันด้านส่งออกจิ้งหรีดไทยในตลาดโลก ณ ฟาร์มจิ้งหรีดที่ใหญ่ที่สุดในสุโขทัย ตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรฯมีนโยบายส่งเสริมการสร้างรายได้ของเกษตรกรด้วยการเลี้ยงจิ้งหรีดและยกระดับมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีดทั้งสายพันธุ์ทองดำ ทองแดง และสะดิ้ง ให้ได้มาตรฐานสำหรับการส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งมีความต้องการนำเข้าในหลายภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นทวีปอเมริกา ละตินอเมริกา แอฟริกา เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสหภาพยุโรป ทั้งนี้ จากข้อมูลผลการศึกษาคาดการณ์ว่าตลาดแมลงรับประทานได้ทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโตระหว่างปี 2018-2023 คิดแบบ Compound Annual Growth Rate (CAGR) ที่ร้อยละ 23.8 และคาดว่าในปี 2023 ตลาดจะมีขนาด 37,900 ล้านบาท (ข้อมูลจากบริษัท Research and Markets) ในขณะที่ตลาดส่งออกของไทยอยู่ประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท
ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมเกษตรกรทั่วประเทศเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อเป็นอาชีพอย่างกว้างขวาง และการกำกับดูแล ผ่านการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด มกษ. 8202-2560 หรือ GAP ฟาร์มจิ้งหรีด และการกำหนดจิ้งหรีดเป็นสัตว์ชนิดอื่นภายใต้ พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 รวมทั้งได้กำหนดนโยบายการเกษตรแบบแปลงใหญ่ขึ้น โดยเป็นการดำเนินงานในลักษณะของการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยในการวางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในพื้นที่แปลงใหญ่ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการผลิตสินค้าเกษตรโดยยึดพื้นที่และสินค้าเกษตรเป็นหลัก ทำให้เกิดการประหยัดจากขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น เป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองของเกษตรกร
ทั้งนี้ ในส่วนของมกอช.เองได้เร่งสนองนโยบายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ผลดำเนินการล่าสุดได้จัดโครงการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีดภายใต้นโยบายการเกษตรแบบแปลงใหญ่ให้แก่เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดพิษณุโลก เพื่อให้มีความความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด ขั้นตอนการยื่นขอการรับรองตามมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด การจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานประจำฟาร์ม และการจดบันทึกข้อมูลในแบบฟอร์มในการบันทึกข้อมูลผลการปฏิบัติงานในขั้นตอนที่สำคัญในการจัดการฟาร์ม รวมทั้งมีความพร้อมในการยื่นขอการตรวจรับรองฟาร์มมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์
รวมทั้งได้จัดสัมมนา เรื่อง รู้ขั้นตอนการส่งออก ยกระดับจิ้งหรีดไทย เพื่อเผยแพร่ความรู้กฎระเบียบการค้าสินค้าจิ้งหรีดไปยังต่างประเทศแก่ประชาชนผู้ที่สนใจและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเรียนรู้จากตัวอย่างผู้ที่ประสบความสำเร็จผ่านการศึกษาดูงานในสถานที่จริง อันจะนำไปสู่การปรับปรุงและยกระดับคุณภาพสินค้าจิ้งหรีดของไทยให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรและผู้ประกอบการแปรรูปจิ้งหรีดไทยในตลาดโลก ระหว่างวันที่ 17 – 21 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเลเจนดา และฟาร์มชุติกาญจน์ จังหวัดสุโขทัย
“มกอช. ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทด้านการประสานงานระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐในเรื่องมาตรฐานและคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหาร เราได้เร่งสร้างการรับรู้ความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบการค้าสินค้าจิ้งหรีดไปยังต่างประเทศแก่ประชาชนผู้ที่สนใจและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าจิ้งหรีดของไทยให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรและผู้ประกอบการแปรรูปจิ้งหรีดไทยในตลาดโลก ซึ่งเดิมจะนิยมบริโภคในกลุ่มประเทศอียู แต่ขณะนี้ตลาดได้ขยายการเติบโตเกิดกระแสฮิตกินจิ้งหรีดขยายไปยังตลาดย่านทวีปอเมริกา ละตินอเมริกา แอฟริกา เอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรียกว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่น่าจับตาอีกชนิดหนึ่งที่จะทำรายได้ให้เกษตรกรและประเทศอีกมหาศาลในอนาคต” นายครรชิต กล่าว
สำหรับจิ้งหรีด องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ (Food and Agriculture Organization of the United Nations; FAO) ได้ส่งเสริมให้คนหันมาบริโภคจิ้งหรีด ซึ่งเป็นแมลงที่บริโภคได้ เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ที่มีราคาถูกและสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น ปัจจุบันมีการค้าขายจิ้งหรีดในรูปแบบสด แช่แข็ง รวมถึงทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทอด คั่ว หรือบรรจุกระป๋อง รวมทั้งทำเป็นผงบดเพื่อแปรรูปเป็นแป้งที่นำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ซึ่งปัจจุบันมีการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สหภาพยุโรป จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ทำให้เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในช่วงหลังการทำนาหรือในช่วงฤดูแล้ง
ทั้งนี้ รัฐบาลได้เล็งเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพและมีความชำนาญในการเพาะเลี้ยงแมลงใน
เชิงพาณิชย์ เช่น จิ้งหรีด ตั๊กแตน หนอนไหม และแมงดานา และได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีด เนื่องจากเป็นแมลงที่เลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่และน้ำน้อยในการเลี้ยง รวมทั้งไม่ต้องใช้เทคโนโลยีและต้นทุนในการเลี้ยงที่สูง จึงเหมาะสมกับพื้นที่แห้งแล้งหรือพื้นที่ชนบท
ด้านนางสาวชุติกาญจน์ เจื้อยแจ้ว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงจิ้งหรีดแปลงใหญ่ฟาร์ม
ชุติกาญจน์ ตำบลท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 36 ราย มีการเลี้ยงจิ้งหรีดในระบบโรงเรือนทั้งแบบปิด และแบบเปิด ผ่านการรับรองมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด GAP ปัจจุบันตลาดส่วนใหญ่เป็นตลาดต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก สวิสเซอร์แลนด์ ฯลฯ ส่วนลูกค้าในประเทศ จะเน้นการจำหน่ายทางออนไลน์ ทั้งปลีก-ส่ง สินค้าส่วนใหญ่เน้นการแปรรูป ได้แก่ ผงโปรตีนจากจิ้งหรีด 100% ซึ่งนำไปเป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ จิ้งหรีดอบกรอบปรุงรส ข้าวเกรียบ คุกกี้ และน้ำพริก โดยมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 1,600,000 บาท หรือประมาณ 19,200,000 บาทต่อปี ซึ่งสมาชิกของกลุ่มจะเน้นเลี้ยงจิ้งหรีดพันธุ์สะดิ้งเป็นหลัก ซึ่งแต่ละเดือนจะมีผลผลิตหลายสิบตัน แต่ปริมาณที่เลี้ยงได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะผงโปรตีนจากจิ้งหรีด ร้อยละ 90 ของปริมาณที่ผลิตได้จะส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่จำหน่ายภายในประเทศ
“จิ้งหรีดรวมถึงแมลงอื่นๆ ถือเป็นอาหารโปรตีนคุณภาพสูง ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในประเทศต่างๆทั่วโลก ดังนั้นการเลี้ยงจิ้งหรีดจึงเป็นอีกทางเลือกของเกษตรกรไทยในการสร้างรายได้ที่น่าสนใจและ การที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมในด้านต่างๆ ทั้งด้านการเลี้ยง การตลาด การพัฒนาเข้าสู่การรับรองมาตรฐานการผลิตต่าง ๆ ถือว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรได้ดีมาก” นางสาวชุติกาญจน์ กล่าว
No Comments