News

กรมส่งเสริมสหกรณ์-ประธาน ชสอ. ปัดข่าวขาดสภาพคล่องเสี่ยงหนี้สูญ ยันมีสถานะการเงินในระดับมั่นคงกว่าธนาคารรัฐ !!

05/09/2018

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์-ประธาน ชสอ. ปัดข่าวขาดสภาพคล่องเสี่ยงหนี้สูญ ยันมีสถานะการเงินในระดับมั่นคงกว่าธนาคารรัฐ ระบุคนไม่หวังดีในกรมปล่อยข่าวต้องการเลื่อยขาเก้าอี้ อธิบดี ช่วงโยกย้ายระดับ10 ด้านประธานชสอ.เล็งตั้งคณะกรรมการศึกษาแก้เงินล้นระบบสหกรณ์ใน5ปีนี้ หาช่องนำเงินก้อนโตไปลงทุนเพิ่มหารายได้ให้สมาชิก ชี้ทำตามระบบภาษี

วันนี้ (5 ก.ย.61) นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วยนายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และรศ.พิเศษ พลโท วีระ วงศ์สรรค์ ประธานกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (ชสอ.) ร่วมแถลงข่าวยืนยันฐานะทางการเงินของชุมนุมสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำกัด ยังมีความมั่นคงและบริหารงานโปร่งใส ไม่มีเหตุต้องวิตกกังวลตามที่มีข่าวปรากฏทางสื่อบางฉบับ ณ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ กรุงเทพฯ

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่าสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย สถานภาพยังดี ไม่มีปัญหาตามที่มีการเสนอข่าว และมีการอ้างชื่อว่าอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ไปให้สัมภาษณ์ ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ซึ่งตนจะทำหนังสือชี้แจงไปยังกองบรรณาธิการอีกครั้ง ทั้งนี้ คาดว่าข้อมูลจากคนไม่หวังดีทั้งนอกกรมและในกรม โดยรู้ว่าเป็นใครที่ให้ข่าวกับสื่อทำลายสหกรณ์มาตลอด เพราะเป็นช่วงโยกย้ายอาจหวังจะเลื่อยเก้าอี้ และที่ผ่านมา ตนได้เข้าไปขัดขวางการกระทำที่มิชอบหลายเรื่องของคนบางกลุ่มที่เข้าหาผลประโยชน์เอาเปรียบสมาชิกสหกรณ์

ด้าน รศ.พิเศษ พลโท ดร.วีระ วงศ์สรรค์ ประธานกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์ออมทรัยพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชสอ. เสียหายกับการที่สื่อเสนอข่าวว่า “ชสอ.ขาดสภาพคล่องเสี่ยงหนี้สูญ” เพราะไม่มีมูลความจริง โดยสถานการเงินของ ชสอ. มั่นคงกว่าธนาคารรัฐ ซึ่งสถานะล่าสุด ณ วันที่ 5 ก.ย. 2561 มีเงินปล่อยกู้ทั้งหมดประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท มี NPL ตามคำสั่งศาล เพียง 4 ราย วงเงิน 5.9 ล้านบาท หรือประมาณ 0.0067% ของยอดหนี้ทั้งหมด ในขณะที่ภาระหนี้เงินกู้อื่นมีการใช้หนี้ตามปกติ ยังไม่พบว่าจะมีความเสี่ยงอะไร ซึ่ง ชสอ. จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เพราะกระทบต่อความเชื่อมั่นของ ชสอ. ที่มีสมาชิกทั่วประเทศ 3 ล้านราย จาก 1,300 สหกรณ์

ประธานกรรมการดำเนินการ ชสอ. กล่าวว่า ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาการลงทุนเพิ่มเติมจากที่กฎหมายสหกรณ์กำหนดให้มาตรา 62 เช่น ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือหุ้นที่อันดับความน่าเชื่อถือไม่ต่ำกว่า A- เนื่องจาก ชสอ. คาดการณ์ว่าสถานการเงินจะขยายตัวเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ภายใน 5-10 ปีข้างหน้า ทำให้เงินล้นระบบสหกรณ์ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไปศึกษาประมาณ 1 เดือน เพื่อที่จะมีแนวทางขยายการลงทุน

“สหกรณ์ พร้อมที่จะลงทุนเองและพร้อมที่จะเสียภาษี ขณะนี้สินทรัพย์สหกรณ์ทั้งหมด ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ใน 5-10 ปี จะขยายมาก จะกี่เท่าไม่มีใครตอบใด เพราะฉะนั้นจึงต้องทำผลการศึกษาออกมาหาทางให้เกิดความสมดุล ซึ่งแนวทางหนี่งที่ ชสอ. เคยเสนอคือ การออกกฎหมายให้ ชสอ.ทำหน้าที่เป็นโบรกเกอร์ หรือตัวกลาง ในการบริหารเงินในระบบของสมาชิกสหกรณ์ทั้งหมดให้กับสหกรณ์ด้วยกันที่มีเงินน้อยกว่านำไปบริหารธุรกิจเพื่อเสริมสภาพคล่องได้โดยผ่าน ชสอ.”รศ.พิเศษ พลโท ดร.วีระ กล่าว

รศ.พิเศษ พลโท ดร.วีระ กล่าวว่า ขณะนี้ ชสอ. นำเงินไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ประมาณ 4 แสนล้านบาท แต่ก็ยังเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่กฎหมายกำหนดว่าไม่ต่ำกว่าระดับ A- ซึ่งแน่นอนว่าการลงทุนมีความเสี่ยง เพราะต้องยอมรับว่าสมาชิกก็ต้องการผลตอบแทนที่ดีทำให้สหกรณ์ก็ต้องแสวงหาการลงทุนที่มีกำไรที่ดี สำหรับเกณฑ์กำกับสหกรณ์นั้น ที่ผ่านมาได้หารือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ อย่างใกล้ชิด ทั้งเกณฑ์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง ที่กรมฯ ใช้เกณฑ์จากธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอมาที่ 6% ทาง ชสอ. เห็นว่าสูงไปเป็นเกณฑ์ที่เวอร์เกินไม่สามารถทำได้จึงเสนอต่อรองมาที่ระดับ 3% ในขณะที่เกณฑ์กำกับการลงทุน และการกำหนดอัตราเงินปันผลของหุ้นที่ชำระแล้ว อยู่ระหว่างหารือ

ทั้งนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเสริมว่า อย่างไรก็ดี ในเรื่องนี้อยู่ระหว่างหารือ ร่วมกับ ชสอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เวลา 30 วัน เพื่อดำเนินการหาข้อสรุปร่วมกันออกมาเป็นกฎกระทรวง เพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเงินของสมาชิกที่จะได้รับผลกระทบจากการลงทุนที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เนื่องจาก แต่ละสหกรณ์ มีพันธะกิจที่ต้องหารายได้มาปันผลหรือจัดสรรประโยชน์ให้กับสมาชิก

No Comments

    Leave a Reply