แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ย้ำไข้หวัดใหญ่ G4EAH1N1 เป็นเพียงการศึกษาวิจัยไข้หวัดใหญ่ในฟาร์มหมู ในประเทศจีนตั้งแต่ปี 2011 ถึง 2018 และเหตุการณ์แพร่ระบาดยังไม่เกิดขึ้นในคน แต่เป็นการนำเสนอผลงานทางวิชาการเท่านั้น
“งานวิจัยนี้ศึกษาไข้หวัดใหญ่ในหมูเป็นหลัก และยังไม่มีรายงานการแพร่ระบาดของโรคนี้ในคนแต่อย่างใด และแม้ในงานวิจัยจะกล่าวว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบันจะใช้ไม่ได้ผลกับไวรัสสายพันธุ์นี้ แต่การพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ก็สามารถทำได้ง่ายเป็นเพียงเปลี่ยนสายพันธุ์ให้ตรงกับสายพันธุ์ที่มีการระบาด” ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวศ.นพ.ยง ได้อธิบายผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว ว่า หมูเป็นสัตว์ที่พบไข้หวัดใหญ่อยู่แล้วและมักจะไม่มีอาการ แต่จะเป็นตัวกลางที่ผสมให้เกิดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ๆ และแพร่เชื้อเข้าสู่มนุษย์ได้ เมื่อเข้าสู่มนุษย์ถ้าเป็นสายพันธุ์ใหม่ทุกคนยังไม่เคยเป็นจึงไม่มีภูมิต้านทานก็จะเกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลกได้
สำหรับไข้หวัดใหญ่ G4EAH1N1 เป็นสายพันธุ์ลูกผสมที่พบในหมูประเทศจีน ชิ้นส่วนพันธุกรรมของไข้หวัดใหญ่จะมีทั้งหมด 8 ชิ้น จึงมีการแลกเปลี่ยนกันได้ G4 คือ genotype ที่ 4 EA คือ Eurasian avian และ H1N1 จึงเรียกเป็น G4EAH1N1 ซึ่งเป็นการผสมผสานของไวรัสไข้หวัดใหญ่ในหมูในนกและในคน เข้าเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ คล้ายกับครั้งหนึ่งที่เคยมีจุดเริ่มต้นที่เม็กซิโก แล้วระบาดใหญ่ทั่วโลกเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009
อย่างไรก็ตาม ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวยังไม่เกิดการระบาดจากคนสู่คน แต่เป็นเพียงการศึกษาไข้หวัดใหญ่ในหมู ในประเทศจีนตั้งแต่ปี 2011 ถึง 2018 โดยทางการจีนทำการศึกษาพบว่า สายพันธุ์ลูกผสม G4 + EA (Eurasian avian-like) + Triple reassortant คือการผสมชิ้นส่วน 3 สายพันธุ์ G4EAH1N1 ซึ่งภูมิต้านทานที่เกิดจากการฉีดวัคซีนในปัจจุบัน ยังไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์ที่พบนี้ได้
สำหรับไข้หวัดใหญ่ในหมูมีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา จากเดิมในอดีตไข้หวัดใหญ่ในหมู จะเป็นสายพันธุ์เดิม classical swine ต่อมามีการผสมผสานเอาชิ้นส่วนของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ Eurasian avian-like ซึ่งพบได้ตั้งแต่ก่อนปี 2010 เป็นสายพันธุ์ G1 หลังเกิดการระบาดด้วยไข้หวัดใหญ่ทั่วโลกไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 ในปี 2009 ชิ้นส่วนพันธุกรรมของ H1N1 2009 จึงเข้าไปผสมเป็นไส้ในของไข้หวัดหมู จึงเรียกสายพันธุ์นี้ว่า G2 ส่วน G4 มีการสอดแทรกสายพันธุ์อีก 1 ชิ้น triple-reassortant และพบมากขึ้นในช่วงระยะหลัง สายพันธุ์นี้จึงแตกต่างจาก G1 และ G2 ส่วน G 3, 5 และ 6 จะไม่ขอกล่าวในที่นี้
ศ.นพ.ยง กล่าวต่อไปว่า การทดลองในสัตว์ พบการติดต่อได้ง่ายผ่านละอองฝอยและการสัมผัสโดยตรง สัตว์ทดลองมีอาการค่อนข้างรุนแรงกว่าสายพันธุ์อื่นและยังมีการศึกษาในเซลล์เพาะเลี้ยง พบว่าไวรัสตัวนี้ติดเชื้อได้ง่ายในเซลล์เยื่อบุ
โดยสรุปก็คือว่า G4EAH1N1 สายพันธุ์นี้พบในหมูที่ประเทศจีน ในระยะหลังจนถึงปี 2018 และจากการทดลองภูมิต้านทานที่ฉีดวัคซีนประจำฤดูกาลในคน ไม่สามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์นี้ได้ และไวรัสสายพันธุ์นี้ยังก่อโรคในสัตว์ทดลองได้ มีอาการมากกว่าสายพันธุ์อื่น และสามารถติดต่อได้ทั้งสัมผัสโดยตรงและทางฝอยละออง
“ข่าวที่เกิดขึ้น เป็นเพียงทางการจีนเสนอผลงานทางวิชาการในวารสารที่มีชื่อเสียง PNAS (Proceedings of the National Academy of Science of the United States of America) และเป็นงานวิจัยที่ทำมายาวนานและเป็นการศึกษาแบบลึกซึ้ง เราอยากเห็นงานวิจัยแบบนี้ในบ้านเรา แต่ต้องเป็นการลงทุนที่เป็นจำนวนมากและหวังว่า คงจะไม่ถูกถามว่าทำวิจัยแบบนี้แล้วเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นไหมเพราะเป็นงานวิจัยพื้นฐาน ผมเคยถูกถามมาแล้วว่าทำแล้วขายได้หรือเปล่า” ศ.นพ.ยง กล่าว./
No Comments