ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฝายยางบ้านแก้งสนามนาง เป็นเขื่อนทดน้ำในลำน้ำธรรมชาติ โดยใช้เขื่อนยางเป็นรูปแบบในการพัฒนาแหล่งน้ำ ตั้งอยู่ที่บ้านแก้งสนามนาง ต.โนนสาราญ อ.แก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา อยู่ในลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำชีส่วนที่ 2 เริ่มก่อสร้างและแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2539 ลักษณะความยาวสันฝาย 80 เมตร ฝายแข็งสูง 2.30 เมตร ฝายยางสูง 2.50 เมตร ปริมาณน้ำเก็บกักหน้าฝาย 7 ล้าน ลบ.ม. มีสถานีสูบน้ำ P 1 พื้นที่ชลประทาน 1,320 ไร่ และสถานีสูบน้ำ P 2 พื้นที่ชลประทาน 30,380 ไร่ ซึ่งโครงการชลประทานนครราชสีมา สำนักงานชลประทานที่ 8 ได้ส่งมอบให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีบน สำนักงานชลประทานที่ 6 ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2551 เนื่องจากเป็นขอบเขตของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีบน ฝายยางบ้านแก้งสนามนางแห่งนี้ก่อสร้างขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำชีมายังลุ่มน้ำห้วยยาง และเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อให้มีน้ำใช้เพื่ออุปโภค-บริโภคในพื้นที่อย่างเพียงพอในฤดูแล้ง และยังส่งน้ำช่วยเสริมน้ำฝนเพื่อการเกษตรในลุ่มน้ำห้วยยางอีกด้วย แต่เนื่องจากตัวฝายมีความสูงในการทดน้ำเพียง 2.5 เมตร มีปริมาณเก็บกักน้ำหน้าฝาย 7 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ระดับในการทดน้ำเข้าสถานีสูบน้ำ P 2 สูงไม่มากพอที่จะสูบน้ำได้เต็มศักยภาพ และแนวท่อส่งน้ำยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ ประกอบกับเครื่องสูบน้ำมีอายุการใช้งานที่เก่าแก่ จึงทำให้ไม่สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรได้ทั่วถึง
สำนักงานชลประทานที่ 6 จึงได้พิจารณาปรับปรุงฝายยางแก้งสนามนางให้เป็นฝายพับได้ สูงประมาณ 5 เมตร และเพิ่มความจุเก็บกักจากเดิม 7 ล้าน ลบ.ม. เป็น 9.62 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมโครงการของสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน จากนั้นสำนักงานชลประทานที่ 6 จะเร่งรัดสำรวจออกแบบและขอรับงบประมาณในการปรับปรุงฝายฯ ต่อไป สำหรับแนวทางการปรับปรุงสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า P1 และ P 2 ซึ่งมีอายุเก่าแกทำให้ไม่สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ และระบบท่อส่งน้ำยังไม่สมบูรณ์ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและประเมินราคาพร้อมเสนอขอรับงบประมาณในการปรับปรุงโดยด่วนต่อไป
ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ได้พบปะเกษตรกร และกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานเพื่อรับฟังปัญหา หาแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงโครงการฯ ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งให้กับประชาชนในพื้นที่ ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภค บริโภค และการเกษตรอย่างทั่วถึง และไม่ขาดแคลน
No Comments