News

ชป.เร่งระบายน้ำท่วมขังภาคใต้อย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

12/12/2020

จากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศมาเลเซีย ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมาในพื้นที่ภาคใต้บริเวณจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมชลประทานตลอดจนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งให้การช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกมิติอย่างทั่วถึง เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของพี่น้องประชาชน รวมทั้งเกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ ปัจจุบัน (12 ธ.ค. 63) ยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัยอยู่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ตรัง และนราธิวาส ส่วนจังหวัดที่สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร สตูล พัทลุง สงขลา และปัตตานี ที่ผ่านมากรมชลประทานได้เข้าให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตรให้เร็วที่สุด หวังช่วยลดผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด

ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะนี้ยังคงพื้นที่น้ำท่วมขังรวม 10 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.พระพรหม อ.ชะอวด อ.หัวไทร อ.เชียรใหญ่ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ปากพนัง อ.ร่อนพิบูลย์ อ.ทุ่งใหญ่ และอ.ถ้ำพรรณนา สำนักงานชลประทานที่ 15 ได้ทำการติดดตั้งเครื่องสูบน้ำ 77 เครื่อง แบ่งเป็น อ.เมือง 10 เครื่อง อ.ชะอวด 5 เครื่อง อ.ปากพนัง 55 เครื่อง อ.เชียรใหญ่ 4 เครื่องและอ.ทุ่งใหญ่ 3 เครื่อง นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 69 เครื่อง แบ่งเป็นพื้นที่เทศบาลนครนครศรีธรรมราช 22 เครื่อง อ.เชียรใหญ่ 11 เครื่อง และที่อ.ปากพนังอีก 36 เครื่อง ด้านสถานการณ์น้ำในคลองท่าดีและแม่น้ำตาปี มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้

ด้านจังหวัดตรัง ยังคงมีพื้นที่ลุ่มต่ำได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 1 อำเภอ คือ อ.เมืองตรัง บริเวณ ต.บางรัก และต.หนองตรุด ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำตรัง ที่สถานี X.56 บ้านท่าประดู่ อ.ห้วยยอด ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 4.18 เมตร แนวโน้มลดลง ที่สถานี X.228 บ้านกลาง อ.เมืองตรัง ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.09 เมตร แนวโน้มทรงตัว ที่สถานี X.234 บ้านป่าหมาก อ.เมืองตรัง ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.14 เมตร แนวโน้มลดลง โครงการชลประทานตรัง ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ อ.เมือง 22 เครื่อง เพื่อเร่งสูบระบายน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลโดยเร็วที่สุดต่อไปแล้ว

No Comments

    Leave a Reply