News

สว.พบประชาชน ติดตามการบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในจังหวัดเชียงใหม่

03/04/2021

ด้วยรัฐบาลโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยประชาชน จึงมีนโยบายให้สมาชิกวุฒิสภา ลงพื้นที่พบประประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ภายใต้ “โครงการสมาชิกวุฒิสภา พบประชาชน” เพื่อรับฟังปัญหาและร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆ เพื่อบรรเทาปัญหาของประชาชนให้มากที่สุด พลเอก ทวีป เนตรนิยม และคณะสมาชิกวุฒิสภาจึงได้ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ (ตอนบน) โดยมี นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมรับฟังแนวทางการบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ไม่สามารถควบคุมได้ ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำต่างๆ มีปริมาณลดน้อยลง ปัจจุบันเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีปริมาณน้ำประมาณ 101 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 38 ของความจุอ่าง ส่วนเขื่อนแม่กวงอุดมธารามีปริมาณน้ำประมาณ 57 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ของความจุอ่าง กรมชลประทาน ได้การบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และส่งน้ำให้ทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมตลอดมา ตามนโยบายของ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำให้กับผู้ใช้น้ำและประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้มีการวางแผนการจัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญของการใช้น้ำ โดยเน้นในเรื่องของการสนับสนุนน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก รองลงมาคือเรื่องของการรักษาระบบนิเวศและน้ำเพื่อการเกษตร และขอความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด

ด้าน พลเอก ทวีป เนตรนิยม สมาชิกวุฒิสภา กล่าวหลังจากการการประชุมว่า เห็นได้ชัดว่าปี 2564 นี้ น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มีปริมาณน้ำน้อยลงหากเทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีปริมาณน้ำน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา แต่ทางจังหวัดเชียงใหม่ก็ยังสามารถรับมือกับภัยแล้งได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ เกิดจากการบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับกับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น สำหรับการเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะยาว
จะเน้นการทำแก้มลิง และปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำได้มากขึ้น และเน้นเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางเพื่อรองรับในกรณีที่อ่างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำน้อยลงเช่นที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เหลือเวลาอีกประมาณ 1 เดือน ก็จะเข้าสู่ช่วงปลายของช่วงหน้าแล้ง และจะมีฝนตกลงมาในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมตามการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมวางแผนการบริหารจัดการน้ำในระยะต่อไปด้วย โดยให้วางแผนและดำเนินการให้สอดรับกับแผนที่ทางสำนักทรัยพากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ได้กำหนดไว้ โดยแผนจะมีการสอดคล้องกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อความรวดเร็วในการเสนอของบประมาณเพื่อเข้าไปแก้ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งทางสมาชิกวุฒิสภาจะได้นำข้อมูลและข้อเสนอต่างๆ จากที่ประชุมไปสู่การแก้ไขอย่างยั่งยืนโดยอาศัยกลไกของวุฒิสภาต่อไป

No Comments

    Leave a Reply