กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังเกิดฝนตกหนัก ทำให้มีน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งในเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เป็นอย่างมากได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย กองทัพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง
นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างตลอดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา นราธิวาส ยะลา และปัตตานี กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับส่งเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ เข้าไปให้ความช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชน ร่วมทั้งสำรวจพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย เพื่อหาแนวทางการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบต่อไป
สำหรับสถานการณ์อุทกภัย ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดสงขลา นราธิวาส มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มคาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติในเร็ววันนี้ ส่วนที่จังหวัดยะลา และปัตตานี ลุ่มน้ำปัตตานี ที่สถานีวัดน้ำท่า X.10A บริเวณสะพานเดชานุชิต อำเภอเมือง ยังคงมีน้ำล้นตลิ่ง 30-45 เซนติเมตร ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนบางลาง ที่มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณทางตอนบน ตั้งแต่วันที่ 4-6 มกราคม 2564 ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงลงอ่างฯเป็นจำนวนมาก ปัจจุบัน (10 ม.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯประมาณ 1,435 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 99 % และเปิดระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำ (Spillway) จำนวน 322 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งแม่น้ำปัตตานีเป็นแห่งๆ
กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ ในการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งอย่างต่อเนื่อง โดยที่จังหวัดนราธิวาส ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำรวม 20 เครื่อง แบ่งเป็น อำเภอเมือง 8 เครื่อง อำเภอเจาะไอร้อง 2 เครื่อง อำเภอตากใบ 8 เครื่อง และ อำเภอสุไหงปาดี 2 เครื่อง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำรวม 8 เครื่อง แบ่งเป็น อำเภอเจาะไอร้อง 4 เครื่อง และ อำเภอตากใบ 4 เครื่อง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบ Hydro Flow รวม 7 เครื่อง แบ่งเป็น อำเภอเจาะไอร้อง 2 เครื่อง อำเภอตากใบ 4 เครื่อง และ อำเภอสุไหงปาดี 1 เครื่อง เดินเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 19 เครื่อง ที่อำเภอตากใบ ทั้งยังได้นำรถแบคโฮเข้าทำการขุดลอกตะกอนทราย บริเวณปากแม่น้ำด้านท้ายประตูระบายน้ำแบ่ง ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น ด้านจังหวัดปัตตานี ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่สะพานเดชานุชิต เทศบาลเมืองปัตตานี จำนวน 6 เครื่อง ประตูระบายน้ำปากคลองระบายน้ำ D10 (ตุยง) อำเภอหนองจิก จำนวน 4 เครื่อง ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำรวม 4 เครื่อง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี ได้ใช้ประตูระบายน้ำปรีกี ควบคุมปริมาณการไหลของน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำปัตตานีให้น้อยลงแบ่งน้ำระบายผ่านคลองส่งน้ำฝั่งซ้ายและฝั่งขวาพร้อมทั้ง ทำการพร่องน้ำในพื้นที่และผันน้ำเข้าระบบระบายน้ำ โดยใช้เขื่อนปัตตานีหน่วงน้ำไว้ทางด้านเหนือเขื่อน เพื่อตัดยอดน้ำก่อนปล่อยน้ำลงสู่ด้านท้ายน้ำ
ส่วนที่จังหวัดยะลา ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 1 เครื่อง สำนักงานชลประทานที่ 17 ได้ทำการติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมทั้งทำการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากสาเหตุการเกิดอุทกภัยดังกล่าว พร้อมทั้งเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวัง ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ เข้าไปเสริมจากเดิมที่ติดตั้งไว้แล้ว เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ พร้อมกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงภัยตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนประตูระบายน้ำทุกแห่งให้เปิดบานพ้นน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่อ่าวไทย ลดผลกระทบต่อประชาชนและพื้นที่การเกษตรให้เร็วที่สุด และขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทาน ได้ตลอดเวลา
No Comments