นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสตรอว์เบอร์รีเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มในความต้องการทางตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยมีทั้งการจำหน่าย เพื่อบริโภคสดและการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น น้ำสตรอว์เบอร์รี สตรอว์เบอร์รีแห้ง และแยม และเนื่องจากความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าสตรอว์เบอร์รีสดเป็นปริมาณมาก โดยในปี 2561 คิดเป็นมูลค่า 435 ล้านบาท ตลาดสำคัญได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย สาธารณรัฐเกาหลี นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้มีการผลิตเพื่อส่งออกสตรอว์เบอร์รีไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยเช่นกัน ซึ่งจากความต้องการดังกล่าว ทำให้มีหลายหน่วยงานต้องการพัฒนาสายพันธุ์สตรอว์เบอร์รี เพื่อขยายพื้นที่ปลูกในหลายจังหวัด และเพื่อรองรับความต้องการสตรอว์เบอร์รีที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร ปี 2561 พบว่า ประเทศไทยมีเนื้อที่เก็บเกี่ยวผลผลิต 6,218 ไร่ ปริมาณผลผลิต 18,119 ตัน โดยจังหวัดที่เป็นแหล่งปลูกที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ กาญจนบุรี เพชรบูรณ์ เชียงราย และตาก
ทั้งนี้ ประเทศไทยยังไม่มีเกณฑ์คุณภาพของสตรอว์เบอร์รีที่เป็นมาตรฐานของประเทศ ในขณะที่คณะทำงานจัดทำมาตรฐานอาเซียนสำหรับผลิตผลพืชสวนและพืชอาหารอื่นๆ (The Meeting of the Task Force on the ASEAN Standard for Horticultural Produce and Other Food Crops; MASHP) อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรฐานสตรอว์เบอร์รีของอาเซียน และคาดว่าจะรับรองในปี 2564 ดังนั้น คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรจึงเห็นชอบให้มีการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง สตรอว์เบอร์รี ของประเทศไทย เพื่อยกระดับการผลิตและเป็นการส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านความปลอดภัยของอาหาร โดยการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยอาหารครบตลอดห่วงโซ่อาหาร สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในประเทศและสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้
“มกอช. ได้จัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง สตรอว์เบอร์รี ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตรแล้ว และได้เปิดให้มีการสัมมนาระดมความเห็นต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง สตรอว์เบอร์รี เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ณ โรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งการจัดสัมมนาระดมความเห็นครั้งนี้ นับว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญในกระบวนการจัดทำมาตรฐาน ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็น โดย มกอช. จะนำข้อคิดเห็นที่ได้ไปใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไขร่างมาตรฐานให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้มาตรฐานอยู่ในแนวทางที่สามารถปฏิบัติได้และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ก่อนที่จะนำเสนอคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรพิจารณาให้ความเห็นชอบ และประกาศเป็นมาตรฐานภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตรต่อไป ทั้งนี้ การจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง สตรอว์เบอร์รี ของประเทศไทย ในครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลในการร่วมการจัดทำมาตรฐานสตรอว์เบอร์รีของอาเซียน เพื่ออยู่ในกรอบที่ประเทศไทยสามารถปฏิบัติได้อีกด้วย” เลขาธิการ มกอช. กล่าว
No Comments