กรมชลประทาน จับมือกรุงเทพมหานคร วางแผนรับมือน้ำหลากพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา
วันนี้(2 ก.ย.63) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามแนวทางการพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการระบายน้ำ(กทม.) กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสหกรรม กรมเจ้าท่า และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปผลการดำเนินงานแนวทางการพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ ณ สำนักงานเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำในส่วนของกรมชลประทาน เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำคลองแสนแสบ ว่า กรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 2 แนวทาง คือ กรณีที่มีปริมาณน้ำเพียงพอ จะลำเลียงน้ำผ่านคลองระพีพัฒน์ คลองระพีพัฒน์แยกใต้ และคลอง 13 ก่อนส่งเข้าสู่ระบบชลประทาน ผ่านประตูระบายน้ำปลายคลอง 13 เพื่อส่งน้ำที่มีคุณภาพดีลงสู่คลองแสนแสบ อีกกรณีหากปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอ จะผันน้ำที่มีคุณภาพดีจากแหล่งน้ำอื่น เช่น แม่น้ำเจ้าพระ แม่น้ำนครนายก ลงสู่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ และลำเลียงผ่านคลอง 5 คลอง 6 และคลอง 7 ลงสู่คลองหกวาสายล่าง เพื่อให้กรุงเทพมหานคร รับน้ำผ่านคลองสามวา ลงสู่คลองแสนแสบต่อไป
สำหรับการบริหารจัดการน้ำเหนือ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพมหานคร นั้น กรมชลประทาน จะทำการเบี่ยงน้ำจากตอนบนไม่ให้ผ่านเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ โดยการใช้คลองแนวขวาง ที่อยู่ทางด้านเหนือของ กทม. ได้แก่ คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองหกวาสายล่าง คลองแสนแสบ คลองนครเนื่องเขต และคลองประเวศน์บุรีรมย์ ตัดยอดน้ำบางส่วนให้ระบายออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง โดยใช้ประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำเร่งระบายน้ำออกจากคลองดังกล่าว ปริมาณน้ำส่วนที่เหลือจะระบายลงสู่คลองแนวดิ่ง ได้แก่ คลอง 1 ถึง คลอง 17 คลองพระองค์ไชยานุชิด และคลองด่าน เพื่อระบายน้ำลงสู่คลองชายทะเลผ่านสถานีสูบน้ำทั้ง 12 สถานี อัตราการสูบน้ำรวม 481 ลบ.ม./วินาที หรือประมาณ 41.55 ล้าน ลบ.ม./วัน เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยเร็ว
ทั้งนี้ หากมีฝนตกหนักในพื้นที่ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำร่วมกับ กทม. ผ่านสถานีสูบน้ำบริเวณรอยต่อเขต กทม. ได้แก่ สถานีสูบน้ำคลองหกวาสายล่าง อัตราการสูบ 69 ลบ.ม./วินาที สถานีสูบน้ำหนองจอก อัตราการสูบ 60 ลบ.ม./วินาที สถานีสูบน้ำประเวศน์บุรีรมย์ อัตราการสูบ 60 ลบ.ม./วินาที และ สถานีสูบน้ำเปรมใต้รังสิต อัตราการสูบ 12 ลบ.ม./วินาที เร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่กทม.ลงสู่คลองชลประทาน ก่อนระบายลงสู่แม่น้ำต่างๆ และอ่าวไทยตามลำดับ ซึ่งสถานีสูบน้ำและอาคารบังคับน้ำตามแนวรอยต่อเหล่านี้ จะมีเกณฑ์ระดับน้ำในการควบคุมการปิด-เปิด ตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างกรมชลประทาน(สำนักงานชลประทานที่ 11) และสำนักการระบายน้ำ(กทม.) ดังนี้ 1.สถานีสูบน้ำคลองหกวาสายล่าง ช่วงฤดูฝน จะเดินเครื่องสูบน้ำเมื่อระดับน้ำภายในสูงเกินกว่า +0.90 ม.รทก.(เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) และจะหยุดเดินเครื่องสูบน้ำเมื่อระดับน้ำภายนอกสูงถึง +1.70 ม.รทก. 2.สถานีสูบน้ำคลองแสนแสบ ตอนหนองจอก ช่วงฤดูฝน จะเดินเครื่องสูบน้ำเมื่อค่าระดับน้ำภายในสูงเกินกว่า +0.90 ม.รทก. และจะหยุดเดินเครื่องสูบน้ำเมี่อระดับน้ำภายนอกสูงถึง +1.30 ม.รทก. 3.สถานีสูบน้ำประเวศ ตอนคลองพระองค์ไชยานุชิต จะเดินเครื่องสูบน้ำ เมื่อระดับน้ำภายในสูงเกินกว่า +0.90 ม.รทก. และจะหยุดเดินเครื่องสูบน้ำ เมื่อระดับน้ำภายนอกสูงถึง +1.05 ม.รทก. ซึ่งการดำเนินการตามมาตรการทั้งหมดที่กล่าวมา จะช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างมาก
No Comments