กรมชลประทาน เดินหน้าช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมภาคใต้ หลังมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ตานนโยบายของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจจะประสบปัญหาน้ำท่วม ได้สั่งการให้กรมชลประทาน เร่งเข้าไปช่วยเหลือพร้อมระดมติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ พร้อมเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ภาคใต้ ส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น จนไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในช่วงวันที่ 27-30 พ.ย. 63 ส่งผลให้ระดับน้ำในคลองธรรมชาติต่างๆเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมคลองและซอยที่มีระดับต่ำ ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ปัจจุบันระดับน้ำในคลองที่ไหลผ่านตัวเมืองทั้ง 5 สาย ได้แก่ คลองคูพาย คลองสวนหลวง คลองป่าเหล้า คลองนครน้อย และคลองท่าชัก ยังคงเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่ล้นตลิ่ง คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม จะสามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำได้ภายใน 1-2 วันนี้ สำนักงานชลประทานที่ 15 ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 17 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ 13 เครื่อง เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่แล้ว นอกจากนี้ ยังได้สำรองเครื่องสูบน้ำไว้ 50 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 44 เครื่อง และรถแบคโฮอีก 30 คัน ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา
ในส่วนของพื้นที่จังหวัดพัทลุง เกิดฝนตกหนักมากบริเวณลุ่มน้ำคลองท่าแนะ ลุ่มน้ำคลองสะพานหยี ลุ่มน้ำคลองป่าบอน ส่งผลให้น้ำไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเขาชัยสน อำเภอกงหรา อำเภอป่าบอน และอำเภอเมือง โดยที่สถานีวัดน้ำบ้านคลองลำ อ.ศรีนครินทร์ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.35 เมตร แนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้น ที่สถานีวัดน้ำบ้านท่าแค อ.เมือง ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.83 เมตร แนวโน้เพิ่มขึ้น สถานีวัดน้ำบ้านเขาปู่ อ.ศรีบรรพต ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 37 เซนติเมตร แนวโน้มเพิ่มขึ้น และที่สถานีวัดน้ำบ้านพิกุลทอง อ.ควนขนุน ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 33 เซนติเมตร แนวโน้มเพิ่มขึ้น โครงการชลประทานพัทลุง ได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง (บริเวณชุมชนโคกเนียน ชุมชนเขาอกทะลุ และบริเวณถนนไชยบุรี) และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำอีก 10 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำคลองลำเบ็ด รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฮโดวโฟวล์ อีก 1 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำคลองลำเบ็ด เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่แล้ว
ทั้งนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งในพื้นที่ภาคใต้ เฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมกับปฏิบัติตามมาตรการเตรียมความพร้อมในการรับมืออุทกภัย ด้วยการกำหนดพื้นที่เฝ้าระวัง กำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทันที พร้อมตรวจสอบระบบชลประทานให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ ตลอดจนบูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางแนวทางรับมือสถานการณ์น้ำหลาก รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ให้ติดตามและเฝ้าระวังเตรียมรับสถานการณ์น้ำจากฝนตกหนักและน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดตามได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชน ได้ตลอดเวลา
No Comments