News

“ลุงป้อม” เยือนเมืองแปดริ้ว ติดตามมาตรการป้องกันน้ำเค็มรุกแม่น้ำบางปะกง

17/03/2022

วันนี้(17 มี.ค. 65) พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะ ลงพื้นที่ไปติดตามการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก และการบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางปะกง โดยมี นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมและรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน ณ ศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำบางปะกง มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น  340 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ รวมกัน  มีน้ำใช้การได้ 286 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทาน ได้วางแผนการจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 2564/2565  (1 พ.ย. 64 – 30 เม.ย. 65 ) จากแหล่งน้ำธรรมชาติ 692 ล้าน ลบ.ม. ด้วยการเปิดรับน้ำเข้าประตูระบายน้ำ และการสูบน้ำด้วยสถานีสูบน้ำ  รวมกับจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำรวม 790 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 641 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 81 ของแผนฯ มีปริมาณน้ำสำรองต้นฤดูฝน (พ.ค. – ก.ค. 65) 356 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มีอ่างเก็บน้ำต้นทุน ได้แก่ คลองสียัด คลองระบม ลาดกระทิง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอีก 2 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 102 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 99 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 219 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 98 ของแผนฯ มีปริมาณน้ำสำรองต้นฤดูฝน (พ.ค. – ก.ค. 65) 95 ล้าน ลบ.ม.

ด้านมาตรการควบคุมค่าความเค็มในลุ่มน้ำบางปะกง กรมชลประทาน  ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตามมาตราการควบคุมความเค็มที่ได้กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง อาทิ การกำหนดจุดตรวจวัด ระยะเวลา และปริมาณน้ำที่จะระบายจากอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำ เพื่อควบคุมความเค็มไม่ให้เกินมาตรฐาน ทำให้ปัจจุบันค่าความเค็มที่สถานีตรวจวัดค่าความเค็มทั้ง 5 จุด ได้แก่ เขื่อนบางปะกง สถานีฯวัดบางขนาก สถานีฯวัดบางแตน จุดสูบการประปาส่วนภูมิภาคสาขาปราจีนบุรี และประตูระบายน้ำหาดยาง อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ส่งผลต่อการเกษตรและการผลิตน้ำประปาในพื้นที่

นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว ยังใช้เขื่อนบางปะกง ควบคุมการรุกตัวของความเค็ม ด้วยการปิด-เปิดบานประตูระบายน้ำตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล สามารถป้องกันการรุกตัวของน้ำเค็มเข้ามาในลำน้ำตอนบนได้ ทำให้พื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทาน ทั้งฝั่งขวา (ตะวันตก) และฝั่งซ้าย (ตะวันออก) ของแม่น้ำบางปะกง พื้นที่รวมประมาณ 700,000 ไร่ สามารถทำการเพาะปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง (นาปี 1 ครั้ง และนาปรัง 1 ครั้ง)  รวมทั้งเป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนด้านเหนือเขื่อน เพื่อการผลิตน้ำประปา ให้แก่การประปาส่วนภูมิภาค (สาขาฉะเชิงเทรา, สาขาบางปะกง, สาขาบางคล้า และสาขาปราจีนบุรี) รวมไปถึงการประปาส่วนท้องถิ่นด้วย ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร  ทั้งยังทำหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำที่ระบายมาจากอ่างเก็บน้ำตอนบนให้สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ปล่อยให้น้ำไหลลงทะเลอย่างเปล่าประโยชน์ด้วย

ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกงให้เต็มประสิทธิภาพ โดยใช้เขื่อนทดน้ำบางปะกงเป็นกลไกหลักและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกตัวที่อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการใช้น้ำด้านต่างๆ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ให้เป็นระบบในระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นทุกปี ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และส่งเสริมให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ด้วย

No Comments

    Leave a Reply