News

ชป.แจงน้ำไหลลงอ่างฯบางแห่งมีน้ำเพิ่มขึ้น แต่ภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์น้อย เร่งเก็บกักน้ำอย่างเต็มศักยภาพ

01/09/2020

ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆทั่วประเทศยังอยู่ในเกณฑ์น้อย แม้จะมีฝนตกลงมาช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นและมีน้ำให้เก็บกักได้บ้าง กรมชลประทาน ต้องจัดสรรน้ำตามแผนฯอย่างเคร่งครัด ร่วมไปกับบริหารจัดการน้ำ และระบายน้ำตามความเหมาะสม เน้นเก็บกักน้ำในเขื่อนและใช้ประโยชน์จากน้ำท่าธรรมชาติให้มากที่สุด

​ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน(1 ก.ย. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 33,832 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 10,417 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 37,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 9,762 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 3,066 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (1 ก.ย. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 9,083 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 76 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,959 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 91 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้ คงเหลือน้ำที่จัดสรรได้ 291 ล้าน ลบ.ม.

​สำหรับปริมาณน้ำไหลงลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ ช่วงระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 1 กันยายน 63 รวมกันประมาณ 5,800 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นรายภาค โดยภาคเหนือ 8 แห่ง มีน้ำไหลลงอ่างฯรวมกันประมาณ 3,203 ล้าน ลบ.ม. , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 แห่ง มีน้ำไหลลงอ่างฯรวมกันประมาณ 851 ล้าน ลบ.ม. , ภาคกลาง 3 แห่ง มีน้ำไหลลงอ่างฯรวมกันประมาณ 30 ล้าน ลบ.ม. , ภาคตะวันตก 2 แห่ง มีน้ำไหลลงอ่างฯรวมกันประมาณ 1,013 ล้าน ลบ.ม. , ภาคตะวันออก 6 แห่ง มีน้ำไหลลงอ่างฯรวมกันประมาณ 212 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ 4 แห่ง มีน้ำไหลลงอ่างฯรวมกันประมาณ 563 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำรวมกันประมาณ 2,963 ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ตามปริมาณฝนที่ตกยังต่ำกว่าค่าปกติ ส่งผลให้ปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในเกณฑ์น้อยตามไปด้วย ดังนั้น ในช่วงเดือนกันยายนต่อเดือนตุลาคม คาดว่าจะมีปริมาณฝนตกชุกมากขึ้น จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างฯได้บ้างพอสมควร ซึ่งกรมชลประทาน จะเน้นเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด บนพื้นฐานของการบริหารจัดการน้ำและจัดสรรน้ำตามแผนฯที่วางไว้อย่างเหมาะสม พร้อมกันนี้ได้ย้ำให้เจ้าหน้าที่ชลประทานทุกโครงการฯ จับมือกับหน่วยงานท้องถิ่น ลงพื้นที่ไปสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดี

No Comments

    Leave a Reply