นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ช้างบ้านนับเป็นต้นทุนที่สำคัญในหลายๆ ด้านของประเทศ ทั้งต้นทุนทางวัฒนธรรม ประเพณีและประวัติศาสตร์ ต้นทุนทางธรรมชาติ และต้นทุนทางเศรษฐกิจ ปัจจุบันช้างมีบทบาทด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย และสร้างรายได้ ที่สำคัญให้ประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ภาพลักษณ์ และอัตลักษณ์ของการท่องเที่ยวของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม พบว่าปางช้างบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติที่ดีในการจัดการเลี้ยงช้างที่ถูกต้องและเหมาะสม ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องสุขภาพช้างและหลักสวัสดิภาพสัตว์ จึงส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพช้างและการทารุณกรรมช้าง
คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร จึงมีมติเห็นควรให้ มกอช. พิจารณาจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับปางช้าง เพื่อการปรับปรุงการปฏิบัติที่ดีในการจัดการเลี้ยงช้างที่ถูกต้องและเหมาะสม ให้เป็นไปตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ แก้ไขปัญหาการทารุณกรรมช้าง รวมทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานปางช้างไทย โดย มกอช. ได้จัดทำร่างมาตรฐานเสนอคณะกรรมการวิชาการพิจารณาร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง และเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๖๓ คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรได้เห็นชอบให้มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้างเป็นมาตรฐานบังคับ โดยใช้บังคับกับปางช้างทุกขนาด และมีผลบังคับใช้นับแต่ วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยมาตรฐานฉบับนี้มีขอบข่ายกำหนดการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง ครอบคลุมองค์ประกอบปางช้าง การจัดการปางช้าง บุคลากร สุขภาพช้าง สวัสดิภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม การจัดการด้านความปลอดภัย และการบันทึกข้อมูล โดยมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ ไม่ครอบคลุมการเลี้ยงช้างในครัวเรือน โดยไม่มีการประกอบกิจการเกี่ยวกับช้างเพื่อการท่องเที่ยวหรือการแสดง และการเลี้ยงช้างไว้ใช้แรงงาน เช่น การชักลาก เป็นต้น ทั้งนี้ มกอช. ได้ดำเนินการออกประกาศสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เพื่อรับฟังความคิดเห็นในการกำหนดมาตรฐานบังคับ การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 โดยจะสิ้นสุดการรับฟังความคิดเห็นภายในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการออกกฎกระทรวงต่อไป
“มกอช. ได้มีการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการปางช้างก่อนการประกาศมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้างเป็นมาตรฐานบังคับ โดยร่วมกับกรมปศุสัตว์จัดการอบรมสัมมนาสร้างความรู้ ความเข้าใจมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง เพื่อให้ผู้ประกอบการปางช้างสามารถดำเนินการยื่นขอการรับรองตามมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้างได้ตามกำหนด โดยมีกำหนดจัดอบรม 4 รุ่น รวมทั้งยังมีแผนการพัฒนาผู้ประกอบการต้นแบบปางช้างมาตรฐานอีกด้วย” เลขาธิการ มกอช. กล่าว
ปัจจุบันปางช้างในประเทศไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 250 ปาง แบ่งออกเป็น 3 ขนาด ประกอบด้วย 1.ปางช้างขนาดเล็ก (จำนวนช้างไม่เกิน 10 เชือก) จำนวน 200 ปาง 2.ปางช้างขนาดกลาง (จำนวนช้าง 11 – 30 เชือก) จำนวน 40 ปาง และ 3.ปางช้างขนาดใหญ่ (จำนวนช้าง 30 เชือกขึ้นไป) จำนวน 10 ปาง โดยแบ่งตามลักษณะกิจกรรมเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.ปางช้างแบบดั้งเดิม 2.ปางช้างแบบท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 3.ปางช้างพิการหรือชรา และ 4.ปางช้างแบบผสมผสาน
No Comments