News

ย้ำโครงการชลประทานทุกแห่ง ตรวจสอบอาคารชลประทาน/ เตรียมเครื่องจักร เครื่องมือรับหน้าฝน

27/04/2020


เช้าวันนี้(27 เม.ย. 63)ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 16/2563 ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมทั้งสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ และเตรียมพร้อมการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ส่วนในช่วงวันที่ 28 เม.ย. – 2 พ.ค. 63 และหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนบริเวณภาคเหนือตอนล่าง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่

ด้านสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 34,112 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 10,798 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,717 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 2,021 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้ว 16,694 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 94 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,492 ล้าน ลบ.ม. เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำฯที่ได้กำหนดไว้

สำหรับผลการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ ปัจจุบัน ณ วันที่ 22 เม.ย. 63 มีการทำนาปรังไปแล้ว 4.21 ล้านไร่(แผนฯวางไว้ 2.31 ล้านไร่) เกินแผนฯไปแล้วร้อยละ 82 เก็บเกี่ยวแล้ว 2.79 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน แต่จากการสำรวจพบว่ามีการทำนาปรังไปแล้วประมาณ 1.98 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.81 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองในการเพาะปลูก

อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าฤดูฝนประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2563 และจะมีปริมาณฝนมากกว่าปี 62 โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำรวมประมาณ 95 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง ตรวจสอบอาคารชลประทานกว่า 18,000 แห่ง ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ กระจายไว้ตามจุดเสี่ยงภัยต่างๆ รวมไปถึงการกำจัดวัชพืชไม่ให้กีดขวางทางน้ำ

No Comments

    Leave a Reply