News

ชป.ร่วมบริหารจัดการน้ำหลัง “โนอึล” เข้าไทย

20/09/2020

วันนี้ (20 ก.ย. 63) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในเขตพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุ “โนอึล” โดยมี นายประสานต์ พฤกษาชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล นายวัชระ เสือดี ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา และ สำนักงานชลประทานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมผ่าน ระบบ video conference ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC7) สำนักงานชลประทานที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) “โนอึล” เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 63 เวลา 13.00 น. ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุระดับ 1 (หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง) มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณจังหวัดพิษณุโลก ส่งผลให้ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่องหลายพื้นที่ กรมชลประทาน เฝ้าติดตามสถานการณ์พายุในพื้นที่เสี่ยงอย่างใกล้ชิด โดยพบว่ามีน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำ ซึ่งระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นบริเวณแม่น้ำป่าสัก อำเภอวิเชียรบุรี อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ลำสนธิ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และลำน้ำยัง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (20 ก.ย. 63) ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 37,208 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 13,383 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 35 แห่ง (1 พ.ค. 63 – ปัจจุบัน) มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างประมาณ 11,575 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ ป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,300ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้รวมกัน 3,614 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำประมาณ 44.56 ล้าน ลบ.ม. แนวโน้มสถานการณ์น้ำท่าในแม่น้ำสายหลัก 9 แห่ง (แม่น้ำชี มูล โขง น่าน ยม วัง ปิง เจ้าพระยา ป่าสัก) มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ส่วนสถานการณ์อุทกภัย มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 1 จังหวัด คือ จังหวัดอุบลราชธาณี ตั้งแต่คืนวันที่ 17 – 18 ก.ย. 63 วัดปริมาณน้ำฝนได้ 58.4 มม. ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังหลายจุดในเขตเทศบาลอำเภอเดชอุดม และอำเภอวารินชำราบ โครงการชลประทานอุบลราชธานี ได้สนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง เครื่องสูบน้ำขนาด 4 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง รถบรรทุกน้ำติดเครนขนาด 6 ตัน จำนวน 1 คัน รถบรรทุกขนาด 4 ตัน จำนวน 1 คัน รถบรรทุกขนาด 2 ตัน จำนวน 1 คัน และรถบรรทุกน้ำ จำนวน 1 คัน พร้อมเดินเครื่องสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่แล้ว และหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติในเร็ววัน

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่ง เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน พร้อมปฏิบัติตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำหลาก ด้วยการกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย กำหนดคนผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆ วิเคราะห์ ติดตาม สถานการณ์น้ำ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานระดับท้องถิ่น เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที กำหนดเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ รถขุด รถแทรกเตอร์ เครื่องสูบน้ำ พร้อมใช้งานเข้าประจำจุดเสี่ยงทั่วประเทศ รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ให้คอยติดตาม ตรวจสอบสภาพความปลอดภัยเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ อาคารชลประทาน ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน ตลอดจนกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด โดยไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ
นอกจากนี้ ดร.ทวีศักดิ์ ฯ ยังเน้นย้ำให้โครงการ

ชลประทานทุกพื้นที่ ดำเนินการตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำปี 2563/64 ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านจัดสรรน้ำให้เป็นระบบ เพื่อลดการสูญเสียน้ำให้น้อยที่สุด พร้อมทั้งเดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำเดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำอย่างสูงสุด และให้ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน รวมถึงสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

No Comments

    Leave a Reply