เช้าวันนี้ (14 ธ.ค. 63) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ conference จากสำนักงานชลประทานที่ 4 จ.กำแพงเพชร โดยมีนายธีระพล ตั๊งสมบุญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ อุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน (13 ธ.ค.63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันประมาณ 43,791 ล้าน ลบ.ม. หรือ 62% ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 20,248 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 12,266 ล้าน ลบ.ม. หรือ 59% ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 5,570 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2563/64 ปัจจุบัน (13 ธ.ค.63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 3,500 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 19 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 818 ล้าน ลบ.ม. หรือ 20% ของแผนจัดสรรน้ำฯ
ดร.ทวีศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงต้นฤดูฝนที่ผ่านมา ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง มีปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงฤดูฝน ส่งผลให้น้ำต้นทุนในเขื่อนใหญ่ของทั้ง 2 ลุ่มน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ทำให้เกษตรกรบางส่วนทำนาปีได้ล่าช้า กรมชลประทาน จะจัดสรรน้ำให้เพียงพอจนต้นข้าวเติบโตสามารถเก็บเกี่ยวได้ โดยผลผลิตไม่เสียหาย ส่วนปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ จะเน้นการส่งน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์เป็นหลัก รวมทั้งสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปีหน้าด้วย ซึ่งจะไม่เพียงพอต่อการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องและนาปรัง สำหรับนาปีที่ปลูกล่าช้า กรมชลประทานจะดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นอกจากนี้ รองอธิบดีกรมชลประทานได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง เร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำให้ทุกภาคส่วนเกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัด พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการร่วมกันในการควบคุมคุณภาพน้ำตามลุ่มน้ำต่าง ๆ รวมทั้งพิจารณาปรับการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี
No Comments