กรมชลประทาน เดินหน้าลุยช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง หวังบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค วอนทุกฝ่ายร่วมกันใช้น้ำตามแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งที่วางไว้อย่างเคร่งครัด
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ของประเทศไทย กรมชลประทาน ได้วางมาตรการในการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนฯที่วางไว้ พร้อมกับเดินหน้าเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง อาทิ ที่จังหวัดเลย โครงการชลประทานเลย ส่งรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 1 คัน นำน้ำไปเติมแท็งก์เก็บน้ำวัดถ้ำผาปู่ บ้านนาอ้อ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมืองเลย เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของทางวัด
จังหวัดลพบุรี สำนักงานชลประทานที่ 10 ให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค ไม้ผลไม้ยืนต้น และรักษาระบบนิเวศ ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 12 เครื่อง สูบน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ไปเติมน้ำให้กับแม่น้ำบางขามและแม่น้ำลพบุรี ช่วยเหลือพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอบ้านหมี่ และอำเภอท่าวุ้ง โดยเริ่มสูบน้ำตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2563 – 19 เมษายน 2563 ปริมาณน้ำรวมประมาณ 6.061 ล้าน ลบ.ม. และมีแผนจะเริ่มสูบครั้งที่ 2 ในวันที่ 20 เมษายน – 10 พฤษภาคม 2563 ปริมาณน้ำรวมประมาณ 10.61 ล้าน ลบ.ม. เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน
จังหวัดนราธิวาส สำนักงานชลประทานที่ 17 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง เพิ่มระดับน้ำในคลองปาเสมัส บ้านน้ำตก หมู่ที่ 1 ตำบลปาเสมัส อำเภอสุไหงโก-ลก นอกจากนี้ โครงการชลประทานนราธิวาส ยังได้สูบน้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าคลองน้ำดำ ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ ผันน้ำเข้าสู่พื้นที่โครงการพรุบาเจาะ-ไม้แก่นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อนจะผันน้ำเข้าสู่คลองระบายน้ำพรุบาเจาะสายที่ 2 และคลองระบายน้ำพรุบาเจาะสายที่ 4 เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำ ความชุ่มชื้น ให้กับพื้นที่โครงการฯ ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำและเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการป้องกันไฟไหม้ป่าพรุได้อีกด้วย
จังหวัดอุตรดิตถ์ โครงการชลประทานอุตรดิตถ์ ลงพื้นที่ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้ใช้น้ำงดเพาะปลูกพืชต่อเนื่องหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค พร้อมขอความร่วมมือจังหวัดในการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่เกษตรกร รวมทั้งกำชับให้องค์การส่วนท้องถิ่นที่ดูแลสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ กำกับและควบคุมไม่ให้สูบน้ำจากแม่น้ำน่านไปใช้ในการเพาะปลูกหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อที่จะเพิ่มปริมาณน้ำในแม่น้ำน่านไปใช้ในการบริหารจัดการน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศน์ ผลักดันน้ำเค็ม และ อื่นๆ ตามแผนการบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่อไป
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังคงเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยแล้งทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด พร้อมกับเดินหน้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ จนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอไม่ขาดแคลน หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือเรื่องน้ำ สามารถประสานไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460
No Comments