News

ฝนตกหนักหลายพื้นที่ตอนบน ช่วยบรรเทาแล้ง คาดฤดูฝนปีนี้ได้ปริมาณน้ำมากกว่าปีก่อน

14/04/2020

ฝนที่ตกหนักในหลายพื้นที่ทางตอนบน ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งโดยเฉพาะภาคอีสาน จับตาต่อหลัง กรมอุตุนิยมวิทยา เตือนจะมีพายุเข้าประเทศไทยอีกระลอกก่อนถึงฤดูฝนนี้

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมทั้งสำนักงานชลประทานเครือข่าย SWOC ทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ สำหรับใช้เป็นข้อมูลวางแผนบริหารจัดการน้ำทั้งในช่วงฤดูแล้งและฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า“พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน” จะมีผลกระทบถึงวันนี้ (14 เม.ย. 63) ส่งผลให้บริเวณภาคเหนือ และภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชคแรง ปริมาณฝนจะค่อยๆลดลง และจะมีฝนเพิ่มมากขึ้นอีกครั้งในช่วงวันที่ 23 เม.ย. 63 ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน(14 เม.ย. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 35,145 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 11,823 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,974 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 2,278 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำรวมกันประมาณ 20 ล้าน ลบ.ม. ส่วนผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบัน (14 เม.ย. 63) มีการใช้น้ำตามแผนฯไปแล้ว 15,552 ล้าน ลบ.ม.(แผนฯ 17,699 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 88 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำตามแผนฯไปแล้วประมาณ 4,176 ล้าน ลบ.ม.(แผนฯ 4,500 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 93 ของแผนฯ

อนึ่ง ปริมาณฝนที่ตกลงมาในระยะนี้ ช่วยบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งได้ส่วนหนึ่ง และมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำบ้างเล็กน้อย กรมชลประทาน ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่ง บริหารจัดการน้ำตามความเหมาะสม ให้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างเพียงพอและทั่วถึงจนสิ้นสุดฤดูแล้ง พร้อมทั้งให้วางแผนการบริหารจัดการน้ำ ฤดูฝนปี 2563 ด้วย ส่วนด้านการเพาะปลูกข้าวนาปี ขอให้เกษตรกรเพาะปลูกหลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน โดยใช้น้ำฝนหรือแหล่งน้ำของตนเองเป็นหลัก น้ำจากชลประทานจะใช้เป็นน้ำเสริมหรือในกรณีฝนทิ้งช่วงเท่านั้น นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมอาคาร

ชลประทาน ทางระบายน้ำ แก้มลิงที่จะใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก ตรวจสอบเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ ให้สามารถใช้งานได้อยู่เสมอ พร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำและช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือเรื่องน้ำ สามารถประสานไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้านได้ตลอดเวลา หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460

No Comments

    Leave a Reply