News

ชป.เร่งแก้ไขน้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำท่าจีน พร้อมขอความร่วมมือทุกส่วนประหยัดน้ำ

14/01/2021

กรมชลประทาน เร่งแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำท่าจีน ลดผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ตลอดฤดูแล้งนี้

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (14 ม.ค.64) ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 46,063 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 22,133 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 11,509 ล้าน ลบ.ม หรือร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 4,813 ล้าน ลบ.ม.

ด้านผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ มีการใช้น้ำไปแล้ว 6,113 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 37 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 1,681 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของแผนฯ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ฤดูแล้งปีนี้ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย จำเป็นต้องคุมเข้มแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด สำหรับข้าวนาปีที่ปลูกล่าช้า เนื่องจากต้นฤดูฝนปี 63 มีฝนตกน้อย กรมชลประทาน จะส่งน้ำช่วยเหลือเกษตรกรจนกว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ พร้อมกันนี้ ได้ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ ไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า ในส่วนของลุ่มน้ำท่าจีน ซึ่งใช้น้ำต้นทุนจาก 2 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 17,637 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 66 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 4,360 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่ 63 ที่ผ่านมาประมาณ 3,933 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในช่วงที่ได้รับอิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูง ระหว่างวันที่ 13 – 16 ม.ค. 64 โดยเฉพาะแม่น้ำท่าจีน ที่มีค่าความเค็มเพิ่มสูงขึ้น กรมชลประทาน ได้วางมาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำคลองจินดา ให้สัมพันธ์กับจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง เพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำท่าจีนในช่วงเวลาที่ค่าความเค็มต่ำกว่า 0.5 กรัมต่อลิตร เข้าไปเติมในคลองจินดา พร้อมกับตรวจวัดค่าความเค็มด้านนอกและด้านในคลองจินดาทุกชั่วโมง เพื่อควบคุมค่าความเค็มไม่ให้เกิน 0.75 กรัมต่อลิตร และให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครปฐม เพิ่มการระบายน้ำผ่านคลองระบายน้ำท่าสาร-บางปลา เป็น 50 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และเพิ่มการระบายน้ำปลายคลองส่งน้ำ 6 ขวา-5 ซ้าย และ 7 ขวา-5 ซ้าย ลงสู่ปลายคลองจินดา เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำจืดและลดค่าความเค็มของน้ำในคลอง นอกจากนี้ ได้จัดเตรียมรถบรรทุกน้ำ 20 คัน เพื่อลำเลียงน้ำจืดเข้าสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกกล้วยไม้อีกด้วย

No Comments

    Leave a Reply