วันที่ 13 ก.ย.64 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) อาเซียน-จีน ครั้งที่ 7 ร่วมกับรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกอาเซียน และรัฐมนตรีช่วยว่าการสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) โดยการประชุมครั้งนี้ จีนเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ ในระหว่างงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน หรือ China-ASEAN Expo (CAEXPO) ครั้งที่ 18 ณ เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนและจีน ได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการความร่วมมือด้าน SPS โดยที่ประชุมเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิด เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าเกษตรและอาหารข้ามพรมแดน ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 โดยมุ่งเน้นให้สินค้าเกษตรและอาหารมีความปลอดภัย เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค และส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างกันน้อยที่สุด พร้อมทั้งรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนงานความร่วมมืออาเซียน-จีน ด้าน SPS ประจำปี 2562-2563 ซึ่งอาเซียนและจีนได้มีความร่วมมือในหลายรูปแบบ เช่น การแลกเปลี่ยนการเยือน การจัดฝึกอบรมและสัมมนาเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ พัฒนาศักยภาพของบุคลากร ตลอดจนการจัดทำฐานข้อมูลกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และการศึกษาวิจัยร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งล้วนนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารภายในอาเซียนและจีน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบในร่างแผนงานความร่วมมืออาเซียน-จีน ด้าน SPS ประจำปี 2565-2566 ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมด้านระบาดวิทยาในสัตว์น้ำ และร่วมกับฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมด้านการกักกันสัตว์ ณ ด่านท่าอากาศยานและด่านท่าเรือ ซึ่งผลสัมฤทธิ์สำคัญที่อาเซียนและจีนร่วมกันประกาศในการประชุมครั้งนี้ก็คือ จีนได้พัฒนาเว็บไซต์เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลด้านมาตรการ SPS ของประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนแล้วเสร็จ และเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าใช้งานได้แล้ว โดยเว็บไซต์ดังกล่าวจะรวบรวมข้อมูลกฎระเบียบและมาตรการด้าน SPS ของประเทศสมาชิกอาเซียนและจีน เพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้นและนำไปใช้ประโยชน์ของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยจีนขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้จีนเพื่อนำไปอัพเดทลงในเว็บไซต์ดังกล่าวต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังได้ประกาศความสำเร็จในการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้าน SPS ระหว่างอาเซียนและจีนฉบับใหม่ ที่จะนำมาใช้แทน MOU ฉบับปัจจุบันซึ่งจะสิ้นอายุลงในวันที่ 24 กันยายน 2564 นี้ โดยขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนได้เห็นชอบในเนื้อหาของ MOU ร่วมกันเรียบร้อยแล้ว และหลังจากนี้ แต่ละประเทศจะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนภายในประเทศ เพื่อนำไปสู่การลงนามร่วมกันโดยการเวียนให้แล้วเสร็จภายในปี 2564
รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า ประเทศไทยเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือภายใต้ MOU SPS อาเซียน-จีน นั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อการค้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างอาเซียนและจีน เนื่องจากเป็นเวทีในการหารือและดำเนินการความร่วมมือด้าน SPS และเป็นช่องทางสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกฎระเบียบและมาตรการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างอาเซียนและจีน ซึ่งไทยก็พร้อมสนับสนุนการดำเนินการความร่วมมืออย่างเต็มความสามารถ
“เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนว่า แม้ว่าในช่วงระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตจากการระบาดของโรคโควิด-19 ไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ได้ใช้ความพยายามอย่างสูงสุดในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 และควบคุมการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในสินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยผลิตและส่งออก โดยปฏิบัติตามหลักมาตรการสากล เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าเกษตรและอาหารของไทยมีความปลอดภัย”นายเฉลิมชัย กล่าว
การประชุมระดับรัฐมนตรีด้าน SPS อาเซียน-จีน เป็นการดำเนินการภายใต้ MOU SPS อาเซียน-จีน โดยจัดเป็นประจำทุกสองปี ซึ่งเป็นโอกาสให้รัฐมนตรีจากกระทรวงที่กำกับดูแลด้านมาตรการ SPS ของประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนได้ร่วมหารือในประเด็นต่างๆ ด้าน SPS ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารภายในภูมิภาค และกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน รวมทั้งเป็นเวทีสำคัญในการหารือในระดับทวิภาคีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนด้วย โดยในครั้งนี้ ไทยและจีนได้ใช้โอกาสนี้ในการลงนามร่วมกันในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนฉบับใหม่ เพื่อเพิ่มเส้นทางขนส่งผลไม้ระหว่างไทยกับจีนด้วย
No Comments