News

ชป.วางแผนบริหารจัดการน้ำเหนือ ส่งน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

08/08/2020

จากอิทธิพลของพายุ”ซินลากู” ส่งผลให้มีฝนตกหนักทางภาคเหนือ ทำให้มีปริมาณน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำสายหลัก โดยเฉพาะในแม่น้ำน่านด้านท้ายเขื่อนสิริกิติ์ ตั้งแต่จังหวัดอุตรดิตถ์ลงมาถึงจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ตามลำดับ ก่อนจะมุ่งหน้าสู่เขื่อนเจ้าพระยา ที่จังหวัดชัยนาท ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลดีต่อเกษตรกรที่กำลังจะทำนาปี ซึ่งกรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำท่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องเกษตรกร ในพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำท่าในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยใช้เขื่อนเจ้าพระยา ทำการทดน้ำบริเวณเหนือเขื่อนให้มีระดับสูงขึ้น ก่อนจะรับน้ำเข้าทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยด้านฝั่งตะวันออก รับน้ำเข้าระบบชลประทานรวม 56 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
(ลบ.ม./วินาที) ก่อนจะกระจายเข้าระบบชลประทานส่งให้กับพื้นที่เพาะปลูกข้าวของเกษตรกร ครอบคลุมพื้นที่กว่า 8 จังหวัดประกอบด้วย ชัยนาท นครสวรรค์(บางส่วนของอ.ตาคลี) ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี อ่างทองพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา จะรับน้ำเข้าระบบชลประทานรวมทั้งสิ้น 41 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะกระจายน้ำส่งไปให้กับพื้นที่เกษตรในเขตจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานครบางส่วนด้วย คาดว่าปริมาณน้ำเหนือจากทางตอนบนจะใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน เดินทางมาถึงยังเขื่อนเจ้าพระยา นับเป็นการบริหารจัดการน้ำน้ำท่าจากแหล่งน้ำธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคการเกษตร โดยไม่มีความจำเป็นต้องระบายน้ำเพิ่มจาก 4 เขื่อนหลัก ซึ่งขณะนี้เน้นเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด สำหรับสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

กรมชลประทาน ขอให้พี่น้องเกษตรกร ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หรือติดต่อสอบถามข้อมูลสถานการณ์น้ำได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือที่ทำการกลุ่มผู้ใช้น้ำ ตลอดจนอาสาสมัครชลประทานทุกแห่ง หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ชลประทานบริการประชาชน

No Comments

    Leave a Reply