ไทยตั้งเป้าหมายในการเป็น “ครัวของโลก” เป็นแหล่งผลิตอาหารป้อนคนทั้งโลก “กรมปศุสัตว์” กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่อยู่เบื้องหลังการเดินหน้าผลักดันเป้าหมายนี้สู่ความสำเร็จมาตลอด
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมายังคงมีคำถามเกี่ยวกับสินค้าเกษตรปศุสัตว์ วันนี้ “นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต” อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดคำตอบทุกประเด็นคำถาม โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ที่กรมปศุสัตว์มีกฎหมายควบคุมทั้งในสัตว์เลี้ยงและสัตว์ที่ใช้เป็นอาหารของมนุษย์
ยกตัวอย่างในการเลี้ยงไก่ไข่ ที่มีมาตรฐานฟาร์ม GAP เป็นหลักปฏิบัติสำหรับเกษตรกร ซึ่งโดยปกติแม้จะเลี้ยงไก่ในกรง แต่ก็มีข้อกำหนดว่าต้องเลี้ยงได้กี่ตัวต่อกรง เพื่อให้ไก่อยู่สบายไม่แออัด ขณะเดียวกัน กรมปศุสัตว์เดินหน้าสร้างมาตรฐานใหม่ในการเลี้ยงไก่ไข่แบบไม่ใช้กรงหรือ “Cage Free” ซึ่งเป็นรูปแบบการเลี้ยงที่กำลังเป็นที่นิยมและตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับหลักสวัสดิภาพสัตว์ โดยสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเลี้ยงไก่นอกกรงตับ ภายใต้ระบบการปฏิบัติที่ดีทางการเกษตรสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ 5 ประการ ได้แก่ อิสระจากความหิวกระหาย อิสระจากความไม่สบายกาย อิสระจากความเจ็บปวดและโรคภัย อิสระจากความกลัวและไม่พึงพอใจ และอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ นับเป็นการยกระดับมาตรฐานที่นำไปสู่มาตรฐานอาหารปลอดภัยให้กับคนไทย และผลักดันการพัฒนาสินค้าปศุสัตว์ทำให้ Cage Free egg เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภค
ที่ผ่านมาพบว่ามี NGOs บางกลุ่ม ที่พยายามบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ไข่ ด้วยการผลิตคลิปวีดีโอโดยใช้ภาพประกอบเป็น ภาพไก่ไข่ที่แออัดในกรงแคบๆ มีภาพไก่ที่อ่อนแอหรือมีปัญหาสุขภาพ รวมทั้งกระบวนการเลี้ยงที่โบราณไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี แล้วนำมาแชร์ต่อๆกัน สร้างความเข้าใจผิดแก่สังคม และส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมไก่ไข่ ซึ่งเรื่องนี้ขอยืนยันว่าการเลี้ยงไก่ไข่ในปัจจุบันนั้นมุ่งเน้นมาตรฐานฟาร์มและความปลอดภัยในอาหารเป็นสำคัญ
ขณะที่การเลี้ยงไก่เนื้อมีมาตรฐานฟาร์มและการดูแลสวัสดิภาพสัตว์กำกับอยู่ โดยมีข้อกำหนดว่าต้องเลี้ยงกี่ตารางเมตรต่อตัว เพื่อให้มีพื้นที่ให้ไก่ได้อยู่อาศัยกว้างขวาง มีระบบการจัดการแสงสว่างและชั่วโมงการพักผ่อนที่เหมาะสมประมาณ 6-8 ชั่วโมง เหมือนกับคน และมีเวลากิน เวลานอน มีเวลาเล่นคุ้ยเขี่ย ภายใต้การเลี้ยงในโรงเรือนปิดเพื่อป้องกันโรค ซึ่งเป็นหนึ่งในการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ และการที่ไก่อยู่ในโรงเรือนปรับอากาศได้ หรือที่เรียกว่าโรงเรือนอีแวป ที่มีอุณหภูมิเหมาะสมกับไก่ในแต่ละช่วงวัย ทำให้อยู่สบาย กินอาหารได้ดี เติบโตได้ตามความสามารถของสายพันธุ์ เมื่อไก่ไม่เครียด ไม่ป่วย จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา เมื่อได้อายุไก่จะถูกขนส่งด้วยระบบรถที่ดูแลเป็นพิเศษ ไก่ต้องไม่ร้อน ไม่มีการทารุณสัตว์ การเข้าเชือดต้องทำให้สลบแบบนุ่มนวล เนื้อไก่ที่บริโภคต้องมาจากการฆ่าที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค
ส่วนเรื่องความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมนในสัตว์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ย้ำว่าในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อ “ไม่มีการใช้ฮอร์โมนเพื่อเร่งการเจริญเติบโต” มานานกว่า 20 ปีแล้ว โดยมีกฎหมายควบคุม และกรมปศุสัตว์มีการตรวจมาโดยตลอด ส่วนที่มีข้อสงสัยว่าถ้ากินไก่แล้วจะทำให้มีฮอร์โมนเอสโตรเจนมาก ทำให้หน้าอกโต เรื่องนี้ขอย้ำว่า “ไม่มีจริง” และปัญหาส่วนใหญ่เกิดจาก Junk Food จำพวกอาหารทานด่วน อาหารทอด ที่เป็นตัวเพิ่มไขมันในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะอ้วน
สำหรับการเลี้ยงหมูก็อยู่ภายใต้มาตรฐานฟาร์มเช่นกัน โดยมีการคุ้มครองและดูแลสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ฒเลี้ยง และปัจจุบันผู้ประกอบการฟาร์มหมูรายใหญ่ของไทย ได้พัฒนาการเลี้ยงและยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ ด้วยการเปลี่ยนการเลี้ยงแม่หมูแบบยืนซอง เป็นการเลี้ยงแบบรวมกลุ่ม หรือคอกขังรวมแทน
เรื่องการควบคุมโรค นับว่าเป็นความสำเร็จที่เห็นได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการป้องกันโรคไข้หวัดนกที่ระบาดหนักในช่วงปี 2547 โดยไทยไม่พบการแพร่ระบาดของโรคนี้มาตั้งแต่ปี 2551 เท่ากับไม่เกิดโรคนี้ต่อเนื่องกันมากกว่า 12 ปี ถือว่าดีที่สุดระดับโลก จากมาตรการที่วางไว้ในด้านการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันอย่างดี มีปศุสัตว์อำเภอและเจ้าหน้าที่อาสาปศุสัตว์เข้าดูแลพี่น้องเกษตรกรอย่างใกล้ชิด
ที่สำคัญคือการป้องกันโรคในสุกร อย่างโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ในสุกร ที่เป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย เพราะอุตสาหกรรมหมูในประเทศหลายประเทศ ทั้งจีน เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา ต่างได้รับผลกระทบจากโรคนี้ แต่ไทยเรายังคงสถานะปลอดโรค แม้โรคนี้ไม่มีวัคซีน ไม่มียารักษา แต่ไทยก็สามารถป้องกัน ASF ได้ตั้งแต่ปี 2561 เรียกว่า “เอาอยู่” มาสองปีกว่า เพราะทุกภาคส่วนร่วมกันเฝ้าระวังป้องกันโรคอย่างเข้มแข็ง โดยกรมปศุสัตว์ร่วมกับภาคเอกชนในการดำเนินการด้านการควบคุมโรคอย่างเข้มงวดมาตลอด เมื่อหมูไทยปลอดภัยปลอดเชื้อโรค ASF ทำให้เป็นที่ต้องการของหลายประเทศ แต่ไทยมีการดูแลเรื่องการผลิตหมูอย่างเพียงพอกับการบริโภค มีการจำกัดการส่งออก ไม่ให้มีผลกระทบต่อคนไทย
ความสามารถในการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ ที่นำเงินตราเข้าประเทศถึงปีละ 2 แสนกว่าล้านบาท และก้าวขึ้นเป็นที่ 1 ในอาเซียนในด้านการส่งออก เป็นภาพสะท้อนมาตรฐานการผลิตของไทยที่เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก โดยมีสินค้าสำคัญที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ คือเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ ที่ไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก มีคู่ค้าสำคัญคือสหภาพยุโรป (EU) กับญี่ปุ่น ที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัยทางอาหาร และสวัสดิภาพสัตว์
ภารกิจทั้งหมดของกรมปศุสัตว์ นอกจากจะเพื่อให้เกิดความปลอดภัยของผู้บริโภค ความอยู่รอดของผู้ผลิตแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจที่ดีของไทย จากการส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลก เพื่อเป้าหมาย “ครัวของโลก” ที่ยั่งยืน./
No Comments