News

สวพ.8 กรมวิชาการเกษตร แนะนำผลวิจัย “รำแดงโมเดล”   หนุนสร้างเศรษบกิจฐานราก-ดันชุมชนเกษตรเข้มแข็ง ยั่งยืน

04/04/2021

สวพ.8 แนะนำ “รำแดงโมเดล : เกษตรตามศาสตร์พระราชา  การพัฒนาการจัดการผลิตพืชให้พอเพียงโดยชุมชนเกษตรมีส่วนร่วม    เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก เข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืน สอดคล้องนโยบายรัฐบาล และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 20 ปี   

นายจิระ สุวรรณประเสริฐ ผอ. สวพ.8 กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า  จากกระแสโลกาภิวัติ วิกฤตแห่งและการเปลี่ยนแปลงสภาพ ได้ผลักดันให้เกษตรกรรายย่อยได้รับผลกระทบในหลายด้าน  อาทิ   ประสิทธิภาพด้านการผลิตที่ต่ำลง ความสามารถในการแข่งขันน้อยลง มีรายได้ที่ไม่สมดุลกับรายจ่าย ขาดความมั่นคงทางอาหาร นำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ไม่พอเพียงและพึ่งตนเองได้น้อยลง จากปัญหาดังกล่าวสวพ.8  จึงได้ทำการวิจัยค้นหาแนวทางทางในพัฒนาการผลิตพืชที่นำไปสู่การพึ่งตนเองของชุมชนเกษตร

นายธัชธาวินท์ สะรุโณ     ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง   สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 (สวพ.8)   กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า  ได้ทำการการวิจัยและพัฒนาระบบการจัดการผลิตพืชที่ยั่งยืนโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตำบลรำแดง อำเภอสิงหนคร  จังหวัดสงขลา ในปี 2559-2563 ในการวิจัยจะมีการพัฒนาการจัดการผลิตพืชทั้งองค์รวมของชุมชนแบบมีส่วนร่วม คือ ด้านการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม การเชื่อมโยงการตลาดและการท่องเที่ยว รวมทั้งการพัฒนาชุมชนเกษตรให้เข้มแข็ง

“รำแดงโมเดล: เกษตรตามศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาการผลิตพืชที่พอเพียงและยั่งยืนของชุมชนเกษตร” คือรูปแบบ (model) การพัฒนาการผลิตพืชโดยนำศาสตร์พระราชา เรื่อง 23 หลักทรงงาน และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” มาใช้ในการจัดการผลิตพืชให้พอเพียงและยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเองของครัวเรือนและชุมชนเกษตร โดยจะมีหลักปฏิบัติ 4 เสาหลักของการพัฒนา คือ  เสาหลักที่ 1 พัฒนาชุมชนเข้มแข็ง เสาหลักที่ 2 พัฒนา 9 พืชผสมผสานและเกษตรผสมผสานพอเพียง  เสาหลักที่ 3 พัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า และเสาหลักที่ 4 เชื่อมโยงการผลิตพืชกับการท่องเที่ยวชุมชน การตลาด และเครือข่ายการพัฒนาต่างๆ

ซึ่งผลการวิจัยในพื้นที่ ต.รำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลาพบว่า  ปี 2563 รายได้รวม 153,046 บาท/ครัวเรือน/ปี  รายได้ภาคเกษตร 101,017 บาท/ครัวเรือน/ปี เพิ่มขึ้นจากก่อนพัฒนา ร้อยละ 10.59 รายจ่ายทางการปลูกพืช 15,801 บาท/ครัวเรือน/ปี ลดลงร้อยละ 51  ความหลากหลายของการผลิตพืชชุมชนเพิ่มเป็น 152 ชนิด หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15 เช่น กลุ่มพืชรายได้ เพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 42 ชนิด พืชสมุนไพรสุขภาพ 20 ชนิด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 33 พืชใช้สอย 21 ชนิด เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 ด้านการดำรงชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า เกษตรกรมีความพอเพียงเพิ่มขึ้นจากระดับน้อยเป็นระดับปานกลาง

การจัดการพืชเศรษฐกิจในพื้นที่นา โดยพัฒนาจากเดิมที่มีการทำนาเพียงอย่างเดียวให้มีการปลูกพืชในฤดูแล้ง โดยจัดระบบการปลูกพืช ระบบถั่วเขียว(หรือข้าวโพดหวานหรือฟักทอง)-ปอเทือง-ข้าว ระบบนี้ปลูกถั่วเขียว ได้ 2 ช่วง คือ ปลูกพร้อมการเก็บเกี่ยวข้าวโดยไม่ต้องมีการเตรียมดิน และปลูกในฤดูกาลปกติ ให้รายได้ 3,390 บาท/ไร่ ข้าวโพดหวาน รายได้ 39,100 บาท/ไร่   ฟักทอง รายได้ 9,705 บาท/ไร่ การปลูกปอเทืองให้น้ำหนักต้นสดที่ไถกลบลงดิน 1,221 กิโลกรัม/ไร่ เทียบเท่ากับการได้ปุ๋ยไนโตรเจน  7 กิโลกรัม/ไร่ ระบบนี้เกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยน้อยลงและคุณสมบัติทางเคมีของดินดีขึ้น ด้านการปรับสภาพนาเป็นร่องสวน พบว่าเกษตรกร มีรายได้สะสม 4 ปี 190,451 บาท/ราย  โดย ฝรั่งกิมจู มีรายได้เฉลี่ย 51,250 บาท/ไร่ ข้อดีอีกประการหนึ่งคือมีในคูร่องสวนเพียงพอสำหรับการปลูกพืชตลอดปี

2.การจัดการผลิตพืชผสมผสานตามแนวทาง 9 พืชผสมผสานพอเพียง พบว่า การพัฒนาพืชรายได้ กล้วยน้ำว้าพรีเมียมรำแดง การแปรรูปกล้วยเป็นกล้วยฉาบน้ำตาลโตนดรำแดง มีรายได้การจำหน่วยกล้วยฉาบ เฉลี่ย 156,066 บาท/ปี การพัฒนาพืชอาหาร ให้หลากหลายขึ้น จาก 9.5 ชนิดในปี เป็น 15.9 ชนิด/ปี การพัฒนาพืชสมุนไพรสุขภาพ ทำให้มีเกษตรกรปลูกพืชเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 มีชนิดพืชรวม 46 ชนิด มีรายได้จากแปรรูปเป็นน้ำมันไพล การพัฒนาพืชสมุนไพรเพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืช เช่น ตะไคร้หอม ข่า สาบเสือ ยาสูบ นำมาทำเป็นสารสกัด การพัฒนาพืชอาหารสัตว์ การพัฒนาพืชอนุรักษ์ดินและน้ำ ปลูกแฝกสามารถลดการพังทลายของคันร่องสวนได้ และปอเทืองควรเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว การพัฒนาพืชอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น  กล้วยไม้กะเรกะร่อนปากเป็ดสีม่วง ซึ่งเป็นพืชที่ขึ้นอยู่ตามบริเวณต้นตาลโตนด นำมาปลูกในกระถาง การพัฒนาพืชใช้สอย พืชพลังงานและเชื้อเพลิง ตะเคียน มะฮอกกานี สนทะเล  แคนา

 

การจัดการผลิตพืชแบบประณีตในฟาร์มระบบต่างๆ พบว่า ในฟาร์มระบบเกษตรที่ปลูกดาวเรืองเป็นพืชหลัก รายได้ 75,952 บาท/ไร่ ในฟาร์มระบบพืชผสมผสานมีการผลิตฝรั่งเป็นพืชหลัก  รายได้เฉลี่ยของฟาร์ม 286,221 บาท/ปี ในฟาร์มระบบเกษตรแบบเลี้ยงแพะผสมผสานกับการปลูกพืช  รายได้เฉลี่ย 192,553 บาท/ปี  ในฟาร์มระบบเกษตรแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ รายได้ทั้งหมดของฟาร์ม 100,075 บาท/ปี

การพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง การจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสินค้าเกษตรพรีเมี่ยมรำแดง พบว่ามีรายได้ เฉลี่ย 156,066 บาท/ปี ทำให้กล้วยที่ปลูกในชุมชนขายได้ 73,900 บาท จ้างแรงชุมชน 123,673 บาท ปันผลจัดสรรให้สมาชิก สูงกว่าการดอกเบี้ยเงินฝากประจำธนาคาร 6.41 เท่า การพัฒนาตลาดสินค้าเกษตร และท่องเที่ยวชุมชน การเปิดร้านใน LAZADA การจัดเวทีวิจัยสัญจรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การบริหารจัดการภาครัฐแบบมีส่วนร่วม ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ด้านสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม จากสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

“ความสำเร็จการพัฒนา ตามแนวทาง “รำแดงโมเดล: เกษตรตามศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาการผลิตพืชที่พอเพียงและยั่งยืนของชุมชนเกษตร” จะทำให้ชุมชนเกษตรจัดการผลิตพืชให้มีความพอเพียง ยั่งยืน และพึ่งตนเองได้เพิ่มขึ้น นำไปสู่ผลลัพธ์ ชุมชนมีขีดความสามารถในการจัดการตนเองบนฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  เกิดผลกระทบทำให้เศรษฐกิจฐานราก มีความเข้มแข็ง มั่นคง ยั่งยืน เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 20 ปี”    นายธัชธาวินท์   กล่าว

No Comments

    Leave a Reply