News

ชป.บริหารจัดการน้ำอย่างประณีต พร้อมรับฝนตกมากขึ้นในเดือน ก.ย. นี้

05/09/2022

วันนี้ (5 ก.ย.65) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (5 ก.ย.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 49,002 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 27,087 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 13,530 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 11,342 ล้าน ลบ.ม.

จากการคาดการณ์ของกรุมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 5 – 9 ก.ย. 65 ร่องมรสุมกำลังแรงเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และในช่วงวันที่ 10-11 ก.ย. 65 ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในขณะที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนกันยายน ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทาน จึงได้พิจารณาปรับลดหรือเพิ่มการระบายน้ำ ใน อ่างเก็บน้ำให้สอดคล้องกับการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากคาดว่าจะมีปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติ พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดัน ประจำจุดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง ให้สามารถใช้งานได้ทันที รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทานและพนังกันน้ำให้อยู่ในสภาพใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิการระบายน้ำ และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้รับทราบสถานการณ์น้ำล่วงหน้าอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

No Comments

    Leave a Reply