News

กคช. ร่วมมือภาคีเอกชน จัดถุงยังชีพส่งต่อให้ชาวชุมชนการเคหะสู้ภัย COVID – 19

27/04/2020


นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติมีชุมชนที่อยู่ในความดูแลทั่วประเทศประมาณ 808 ชุมชน และตลาดชุมชนการเคหะแห่งชาติอีก 93 แห่ง ซึ่งบางแห่งมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น จึงมีโอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในชุมชนได้ การเคหะแห่งชาติมีความห่วงใยถ้าหากชุมชนนั้นมีผู้ติดเชื้อหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังแล้วต้องกักตัวเพื่อสังเกตอาการ 14 วัน ซึ่งผู้อาศัยส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยหาเช้ากินค่ำ หากโดนกักตัวก็ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายของชาวชุมชน การเคหะแห่งชาติจึงได้ขอความร่วมมือไปยังภาคีเครือข่ายภาคเอกชน เพื่อขอสนับสนุนเครื่องอุปโภค-บริโภค น้ำยาฆ่าเชื้อ และสิ่งของจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ขณะนี้มีภาคเอกชนจำนวนมากให้ความร่วมมือบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อจัดทำเป็นถุงยังชีพแจกจ่ายให้กับชาวชุมชนการเคหะฯ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เช่น บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) มอบน้ำดื่ม จำนวน 12,000 ขวด รวมถึงผู้ประกอบการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติหลากหลายบริษัทที่ร่วมบริจาคถุงยังชีพ จำนวน 465 ชุด ประกอบด้วย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ซี.เค.คอนสตรัคชั่น (2007) บริษัท เพอร์เฟค พลัส โซลูชั่น จำกัด บริษัท คิวเซรามิกซ์ จำกัด บริษัท นิวัฒน์วัสดุ จำกัด และคุณดวงกมล ทองประสิทธิ์ ส่วนบริษัท มาร์ค ไบโอเทคโนโลยี จำกัด มอบเครื่องวัดอุณหภูมิ 20 เครื่อง เจลล้างมือแอลกอฮอล์ ขนาด 500 มิลลิลิตร จำนวน 120 ขวด และแอลกอฮอล์สเปรย์ ขนาด 3,800 มิลลิลิตร จำนวน 12 แกลลอน เป็นต้น ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหารงานชุมชน 1-4 การเคหะแห่งชาติ เป็นผู้แทนมอบสิ่งของเหล่านี้ให้กับ
ผู้อยู่อาศัยในชุมชนอย่างเร่งด่วน พร้อมกับจัดทีมขึ้นมาบริหารจัดการของบริจาค เพื่อตรวจสอบและให้ความมั่นใจว่าของที่ภคเอกชนร่วมกันบริจาคจะถึงมือชาวชุมชนอย่างแน่นอน

การเคหะแห่งชาติพยายามออกมาตรการดูแลชาวชุมชนและผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของการเคหะแห่งชาติให้ครอบคลุมทุกมิติ มิติแรกคือ ลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในชุมชน ด้วยการมอบเครื่องอุปโภค-บริโภคให้กับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสในช่วงกักตัว เพื่อลดการเคลื่อนย้ายและการแพร่เชื้อ มิติที่สองคือ
ลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการพักชำระหนี้ ปลอดค่าเช่า รวมระยะเวลา 3 เดือน และมิติ
ที่สามคือ ด้านการฟื้นฟูอาชีพ ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้ประสานความร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อเตรียมการสร้างอาชีพ เช่น เปิดคอร์สสอนอาชีพออนไลน์ ฝึกทักษะอาชีพเสริมให้กับชาวชุมชน เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็สามารถกลับมามีอาชีพและสร้างรายได้ได้ตามปกติ
“ตอนนี้ต้องขอความร่วมมือผู้อยู่อาศัยในชุมชน เมื่อมีความสงสัยว่า ตนเองมีความเสี่ยงในการติดเชื้อให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติที่ดูแลชุมชนให้ทราบอย่างเร่งด่วน และเจ้าหน้าที่จะนำสิ่งของที่ได้รับการสนับสนุนเข้าให้ความช่วยเหลือทันที พร้อมประสานไปยังกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อไป ที่สำคัญอยากให้ชาวชุมชนปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในชุมชน อย่างไรก็ตาม การเคหะแห่งชาติจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ความช่วยเหลือชาวชุมชนให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้” นายณัฐพงศ์ กล่าวย้ำ

No Comments

    Leave a Reply