News

มกอช. คว้ารางวัลองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 10 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

24/05/2022

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้รับมอบรางวัลองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 10 (NACC Integrity Awards) จากสำนักพัฒนาและส่งเสริม            ธรรมาภิบาล สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) โดยมี            พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และ พลเอกบุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. มอบรางวัลและร่วมแสดงความยินดี ณ สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ            จ.นนทบุรี

“มกอช. ดำเนินงานภายใต้นโยบายคุณธรรมและความโปร่งใสในการบริหารจัดการองค์กร ทำให้องค์กรได้รับการพิจารณารางวัลจาก สำนักงาน ป.ป.ช. อย่างต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน ตั้งแต่รางวัลองค์กรโปร่งใส ครั้งที่ 9  และครั้งที่ 10 นี้ มกอช. ใช้แนวทางวางนโยบาย 9 ด้าน ได้แก่ ๑) ด้านความโปร่งใส ๒) ด้านความพร้อมรับผิดและการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ๓) ด้านความปลอดจากการทุจริตในการปฏิบัติงาน  ๔) ด้านวัฒนธรรมคุณธรรมในองค์กร ๕) ด้านคุณธรรมการทำงานในหน่วยงาน ๖) ด้านการป้องกันการขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวม ๗) ด้านการใช้ดุลยพินิจ  ๘) ด้านการจัดการเรื่องร้องเรียน  และ ๙) ด้านการสื่อสารในหน่วยงาน ซึ่งช่วยให้การบริหารราชการมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ สาธารณชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้รับบริการเข้าถึงข้อมูลได้ทุกขั้นตอน เกิดความเชื่อมั่นในการปฏิบัติงาน รวมถึงการดำเนินงานบนพื้นฐานหลักนิติธรรม มีความเสมอภาค เท่าเทียมกัน เคารพสิทธิมนุษยชน มีแนวทางการดำเนินงานที่เป็นสากล อีกทั้งยังช่วยในการขับเคลื่อนสินค้าเกษตรไทยให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและประเทศคู่ค้า” เลขาธิการ มกอช. กล่าว สำหรับการดำเนินการตามเกณฑ์การพิจารณาองค์กรโปร่งใส ประกอบด้วย 4 หมวด ได้แก่

หมวดที่ ๑  องค์กรมีความพร้อมรับผิดชอบ (Accountability) ต่อผู้รับบริการ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สังคม และสิ่งแวดล้อม จากการปฏิบัติภารกิจหรือการให้บริการ

หมวดที่ ๒  องค์กรปฏิบัติภารกิจยึดมั่นในหลักนิติธรรม (Rule of Law) มีแนวปฏิบัติเพื่อกำกับให้องค์กรปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับภารกิจที่องค์กรได้รับมอบหมาย

หมวดที่ ๓  องค์กรให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ของผู้ปฏิบัติงาน ผู้ร่วมงาน และปฏิบัติตามแนวทางจริยธรรมที่เป็นสากล (International Norms of Ethical Practices)

หมวดที่ ๔  องค์กรดำเนินภารกิจ และมีระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใสมีการป้องกันการทุจริต และ ป้องกัน “การให้หรือรับสินบน”

No Comments

    Leave a Reply